คมนาคมเร่งปูพรม “ขนส่งมวลชน” ในภูมิภาค เปิดแผนอัพเดตรถไฟฟ้า 7 จังหวัด ดึงเอกชนลงทุนในรูปแบบ PPP มูลค่า 1.1 แสนล้าน รื้อโมเดลระบบใหม่ เป็นรถไฟฟ้าล้อยาง ลดต้นทุน 30% ประหยัดงบประมาณ นำร่อง “ภูเก็ต” จาก 3.5 หมื่นล้าน หั่นเหลือ 2 หมื่นล้าน รฟม.เร่งทบทวน “เชียงใหม่-โคราช” ส่วน “ขอนแก่น-หาดใหญ่” ฉลุย จังหวัดขอลุยเอง
ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่รับผิดชอบต่างเร่งงานก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน หรือโครงการรถไฟฟ้าสารพัดสีทั้งระบบบนดินและใต้ดินทั่วทุกพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ แม้จะมีปัญหาทำให้การจราจรติดขัด เนื่องจากมีการลดพื้นผิวจราจร เพื่อเปิดพื้นที่ในการก่อสร้างอย่างเร่งด่วน
ล่าสุดกระทรวงคมนาคมประกาศนโยบายจะลงทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่ต่างจังหวัดตามแผนแม่บท
ลุย 7 จังหวัด
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กำลังเร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาค ในพื้นที่ 7 จังหวัด ซึ่งมีแผนจะเปิดกว้างให้เอกชนร่วมลงทุน PPP วงเงินรวม 116,027 ล้านบาท ซึ่งแต่ละจังหวัดเริ่มมีความคืบหน้าบ้างแล้ว และกระทรวงคมนาคมจะเร่งผลักดันตามขั้นตอนต่าง ๆ ให้โครงการได้รับอนุมัติภายในปี 2564
รถไฟฟ้าในภูมิภาค ประกอบด้วย 1.จ.ภูเก็ต ช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. วงเงิน 35,294 ล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนความเหมาะสม คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน ต.ค. 2564 เริ่มสร้างในเดือน เม.ย. 2566 แล้วเสร็จในปี 2569
2.จ.เชียงใหม่ สายสีแดงช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กม. วงเงิน 23,736 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษา ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จะเสนอ ครม.ในเดือน เม.ย. 2566 เริ่มสร้างในเดือน พ.ย. 2567 แล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2571
3.จ.นครราชสีมา สายสีเขียวช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.15 กม. วงเงิน 7,201 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา รายงาน EIA และรายงราน PPP คาดว่าเสนอ ครม.อนุมัติในเดือน พ.ค. 2566 เริ่มสร้างในเดือน พ.ย. 2567 แล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2571
4.จ.ขอนแก่น สายสีแดงช่วงสำราญ-ท่าพระ ระยะทาง 22.8 กม. วงเงิน 26,963.06 ล้านบาท ดำเนินโครงการโดย บจ.ขอนแก่น ทรานซิทซิสเต็ม (KKTS) และ 5 เทศบาลในจังหวัดรวมตัวกันลงทุน อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด ขอใช้พื้นที่ศูนย์วิจัยข้าว และหาพื้นที่ทดแทนแห่งใหม่ให้ ทบทวน EIA และขอใช้พื้นที่เกาะกลางและไหล่ทางถนนกรมทางหลวง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 ใช้เวลาสร้าง 3 ปี 5.จ.พิษณุโลก รูปแบบรถรางล้อยาง เฟสแรกสายสีแดง จากมหาวิทยาลัยนเรศวร-เซ็นทรัล ระยะทาง 12.6 กม. วงเงิน 1,666.78 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ PPP จะเสนอ ครม.ปี 2566 เริ่มสร้างปี 2567 เสร็จปี 2571
6.จ.อุดรธานี สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังศึกษาเป็นรูปแบบรถโดยสารไฟฟ้า ระยะทาง 20.6 กม. วงเงิน 1,360 ล้านบาท นำร่อง 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.สายสีแดง ยูดีทาวน์-สถานีรถไฟ-เซ็นเตอร์พ้อยท์-เซ็นทรัลพลาซา-โรงเรียนอุดรวิทยา-แยกหอนาฬิกา-ทุ่งศรีเมือง-ศาลหลักเมือง-เทศบาลนคร-ศาลจังหวัด-ศาลากลางจังหวัด-พิพิธภัณฑ์-วัดโพธิสมภรณ์-ตลาดสดโพศรีวิลเลจ-สถานีขนส่ง 2-โรงเรียนไทยสมุทร-วิทยาลัยพลศึกษา-โรงเรียนอุดรพิชัยรักษ์พิทยา-สนามบิน และ 2.สายสีส้ม สถานีรถไฟ-เซ็นเตอร์พ้อยท์-รพ.กรุงเทพ-วิทยาลัยเทคนิค-ศาลากลาง-โรงเรียนเทศบาล 2-รพ.นอร์ทอีสเทอร์นวัฒนา-หนองประจักษ์-รพ.อุดรธานี-วัดโพธิสมภรณ์-โรงเรียนเทศบาล 5-ม.ราชภัฏ-อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม-เจริญโฮเต็ล-ยูดีทาวน์
และ 7.อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รูปแบบโมโนเรลจากคลองหวะ-สถานีรถตู้ ระยะทาง 12.54 กม. วงเงิน 17,586 ล้านบาท รายงาน PPP และ EIA ได้รับอนุมัติแล้ว คาดว่าเริ่มสร้างปี 2565 แล้วเสร็จในปี 2568
รฟม.ทบทวนผลศึกษา
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. รับผิดชอบ จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา และพิษณุโลก อยู่ระหว่างทบทวนผลศึกษาให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ให้พิจารณานำระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (ART) มาดำเนินการแทนรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (รถแทรม/ไรต์เรล) เพื่อประหยัดเงินลงทุน ส่วนรถไฟฟ้าขอนแก่น และสงขลา ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะเป็นผู้ดำเนินการเอง
“ผลศึกษาเดิมมี 3 จังหวัดที่กำหนดเป็นระบบรถแทรม คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ และโคราช ทาง รฟม.ต้องปรับรายละเอียดใหม่ เริ่มจากภูเก็ตเป็นโมเดลนำร่อง เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไปแล้ว”
สั่งรื้อทุกเส้นทาง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การพัฒนารถไฟฟ้าในต่างจังหวัดยังเดินหน้าต่อ แต่ให้ รฟม.ทบทวนความเป็นไปได้ของทุกโครงการอีกครั้งว่าระบบรถไฟฟ้ามีความคุ้มค่าการลงทุน แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้จริงหรือไม่ โดยให้เร่งรัดรถไฟฟ้าภูเก็ตก่อนเป็นลำดับแรก
“ต้องยอมรับความจริง ประเทศเราไม่ได้มีเงินเยอะ ถ้าทำแล้วมีผลการศึกษายืนยันว่าคุ้มค่าการลงทุน ไม่เป็นภาระประชาชน และแก้ปัญหาการจราจรได้ก็ทำไป แต่ถ้าทำแล้วไม่คุ้มค่าทางการลงทุน ไม่มีคนมาใช้บริการ เพราะถ้าเป็นโมโนเรลต้องมีคนมาใช้บริการ 40,000 เที่ยวคน/วัน เมื่อคนไม่มีจะไปใช้วิธีการขึ้นราคาแพง ๆ มันก็ไม่ตอบโจทย์”
ภูเก็ตเคาะ 2 หมื่นล้าน
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า สาเหตุให้ทบทวนรูปแบบ จ.ภูเก็ตใหม่ เนื่องจากพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทั้งรถไฟรางเบาและทางด่วน ทั้ง 2 โครงการมีจุดเริ่มต้นที่สนามบินภูเก็ต เป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาให้ละเอียดว่า ประชาชนที่จะเดินทางจากสนามบิน จะใช้บริการระบบไหนมากกว่าหรือน้อยกว่ากัน จากเดิมที่ศึกษาว่าจะมีผู้โดยสารจากสนามบินมาใช้บริการรถไฟฟ้าประมาณ 10,000 คน/วันนั้นถูกต้องหรือไม่ ให้เวลา 1 เดือน
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า ได้ข้อสรุปรถไฟฟ้าภูเก็ต จะเปลี่ยนระบบรถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก (แทรม) เป็นระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (ART) เป็นรถโดยสารใช้พลังงานไฟฟ้า จะทำให้ลดต้นทุนลงได้จาก 35,294 ล้านบาท อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท จะทำรายงาน PPP ใหม่ เนื่องจากมูลค่าการลงทุนลดลง ต้องวิเคราะห์และจัดรับฟังความสนใจเอกชน และทำรายงาน EIA ใหม่ ส่วนการลงทุนยังคงให้เอกชนร่วม PPP ทั้งก่อสร้างและเดินรถ และ รฟม.จะเป็นผู้เวนคืนที่ดินให้ 1,499 ล้านบาท โดยวางไทม์ไลน์โครงการจะประมูลต้นปี 2566 สร้างเดือน มิ.ย. 2567 เปิดบริการปลายปี 2569 หรือปี 2570 มีผู้โดยสารอยู่ที่ 39,000 เที่ยวคน/วัน