28พ.ค.2564-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 2/ 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยโปรแกรม “Zoom” เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพ ฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมาระยะทาง 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท งานโยธาแบ่งเป็น 14 สัญญา โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 สัญญา เตรียมการก่สร้าง 3 สัญญา อยู่ในขั้นตอนการประกวด ราคา 4 สัญญา
ส่วนในระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 356.10 กม มีจำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สถานีหนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) 2 แห่ง ที่นาทา และเชียงรากน้อย มีศูนย์ซ่อมบำรุงทาง (Maintenance Base) 4 แห่ง ที่บ้านมะค่า หนองเม็ก โนนสะอาด และนาทา มีย่านกองเก็บตู้สินค้า (CY)และย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) 1 แห่ง ที่นาทา
อย่างไรก็ตามปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษา และออกแบบรายละเอียด เพื่อเชื่อมต่อทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งคาดว่าออกแบบแล้วเสร็จเดือนมิ.ย.64 และกระทรวงคมนาคมได้เตรียมจัดประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 29 เพื่อหารือร่วมกับฝ่ายจีนในการดำเนินงานในระยะต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย -จีน จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ ,คณะอนุกรรมการพัฒนาการเชื่อมต่อ และการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ และ คณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นระบบสนับสนุนผู้โดยสารให้กับระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อขับเคลื่อนดำเนิน โครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมอีก 3 ข้อ คือ 1. ให้กระทรวงคมนาคมหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ในประเด็นการก่อสร้างโครงสร้างงานโยธาร่วม ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ให้ได้ข้อสรุปเพื่อเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต่อไป
2. ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแนวทางก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ว่าสามารถดำเนินการได้ตามมติคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกหรือไม่
3.ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการจัดทำแนวทางการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างไทย -ลาว-จีนโดยพิจารณาแนวทางเลือกข้อดี – ข้อเสีย ด้านต่างๆ เพื่อหารือกับฝ่ายจีนต่อไป