วันที่ 9 ตุลาคม 2564 นายภักดี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการฝนหลวง เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง รวมทั่วประเทศ จำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ โดยในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือ มีจำนวน 3 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ ตาก และหน่วยฯ จ.พิษณุโลก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวน 2 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยฯ จ.ขอนแก่น และหน่วยฯ จ.อุดรธานี ซึ่งแผนการทำงานในระยะนี้ กรมฝนหลวงฯ จะทำงานโดยประสานงานร่วมกับกรมชลประทาน ในการเน้นภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ยังมีปริมาณน้ำน้อย เพื่อสำรองน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ทำให้มีฝนตกหนัก แต่การกระจายตัวของฝนยังไม่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ และพบว่า เขื่อนหลักในพื้นที่ภาคเหนือ ณ ขณะนี้ ยังคงต้องการน้ำเพิ่ม ดังนั้นศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จึงต้องมีการปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเน้นการเติมน้ำเหนือเขื่อนในพื้นที่เชียงใหม่ และจ.ตาก โดยหน่วยฯ จ.เชียงใหม่ มีเป้าหมายหลัก คือ การเติมน้ำเหนือเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก
ซึ่งยังสามารถรับน้ำได้อีกมาก ส่วนหน่วยฯ จ.ตาก จะทำหน้าที่เติมน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์
ด้านนายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางศูนย์ฯ ได้มีการติดตามสภาพอากาศและวางแผนปฏิบัติการช่วยเหลือเติมน้ำให้กับเขื่อนหลักมาโดยตลอด แต่ว่าการขึ้นบินปฏิบัติการในแต่ละครั้งนั้น ต่างมีอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ อาทิ เสถียรภาพของอากาศที่ส่งผลให้เมฆในพื้นที่เป้าหมายไม่สามารถพัฒนาตัวได้และสลายตัวไป ความชื้นสัมพัทธ์ในระดับปฏิบัติการฝนหลวงมีไม่เพียงพอ ตลอดจนความเร็วลมในระดับปฏิบัติการมีกำลังแรง ส่งผลให้ไม่สามารถขึ้นบินปฏิบัติการได้ จึงมีการเลือกใช้วิธีการบังคับให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมายเท่านั้น คือ การเลือกใช้ขั้นตอนการโจมตีเมฆ โดยขั้นตอนนี้จะใช้เครื่องบิน 2 ลำ ต่อ 1 ชุดปฏิบัติการ และทำการโปรยสาร เพื่อเน้นให้มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น มีเม็ดน้ำที่ใหญ่ขึ้น และเกิดฝนตกยาวนานขึ้นด้วย
ขณะที่ด้านผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ยังคงมีปริมาณน้ำน้อย ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง อ่างเก็บน้ำแม่สอง จ.แพร่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี และเขื่อนน้ำอูน อ่างเก็บน้ำห้วยกระเฌอ อ่างเก็บน้ำโคกภูใหม่ จ.สกลนคร ในขณะเดียวกันจากการตรวจสภาพอากาศของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในเช้าวันนี้จากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า พื้นที่ภาคเหนือสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 1 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก โดยมีเป้าหมายช่วยเหลืออ่างเก็บน้ำแม่สอง จ.แพร่ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์
ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 และสามารถติดตามสารคดีเกี่ยวกับฝนหลวง ได้ที่ Youtube รายการใต้ปีกฝนหลวง