Print this page
เปิดแผนรองรับเปิดประเทศระยะที่ 1 ช่วงวันที่ 1-30 พ.ย.64 นำร่อง 17 จังหวัดพื้นที่สีฟ้า ด้าน สธ. เตรียมมาตรการเพียบ! ขณะที่ปลัด สธ. เผยมีกำหนดเกณฑ์ประเมินสถานการณ์กรณีหากมีระบาดรุนแรงจนเกินศักยภาพระบบสาธารณสุขรองรับ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแผนรองรับการเปิดประเทศภายหลังจากที่ศบค.เห็นชอบ ว่า สำหรับแผนรองรับการเปิดประเทศในระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-30 พ.ย.2564 จะมี 17 จังหวัดนำร่อง หรือพื้นที่สีฟ้า คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ(สนามบินสุวรรณภูมิ) กระบี่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์(ต.หัวหิน หนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี(พัทยา อ.บางละมุง ต.จอมเทียน ต.บางเสร่ เกาะสีชัง อ.ศรีราชา) ระนอง(เกาะพยาม) เชียงใหม่(อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) เลย(เชียงคาน) บุรีรัมย์(อ.เมือง) หนองคาย(อ.เมือง ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ สังคม) อุดรธานี (อ.เมือง นายูง หนองหาน) ประจักษ์ศิลปาคม กุมภวาปี บ้านดุง) ระยอง(เกาะเสม็ด) และตราด(เกาะช้าง) โดยในการเตรียมความพร้อมของพื้นที่จะพิจารณาทั้งอัตราความครอบคลุมวัคซีน ศักยภาพการรักษาเตียงรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง อัตรการติดเชื้อรายวันต่อแสนประชากร และคะแนนการประเมินตนเองของพื้นที่ ซึ่งทั้ง 17 จังหวัดพบว่าอยู่ในเกณฑ์นี้ หากยังไม่อยู่ในช่วงเวลาอีก 14 วันก็จะสามารถทำให้ถึงเกณฑ์ได้ สามารถที่จะมีความพร้อม
สำหรับแผนการรองรับการเปิดประเทศแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ ในส่วนของกลยุทธ์การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มเสี่ยง สถานที่เสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง มาตรการ 1.การปรับระบบเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยง 11 กลุ่ม ให้สอดคล้องสถานการณ์ 2.การค้นหาเชิงรุก โดยทีมบูรณาการเคลื่อนที่ในชุมชน(CCRT)เข้าให้ถึงทุกพื้นที่โดยเร็วและต้องมีอยู่ในบริเวณที่กำหนดให้เป็นพื้นที่สีฟ้านำร่องท่องเที่ยว 3.การดำเนินการป้องกันโรคในรูปแบบBubble and Seal สำหรับสถานประกอบกิจการ แคมป์ก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง 4.การจัดระบบป้องกันควบคุมโรค สำหรับการเดินทางและใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ตามมาตรการCOVID Free Setting ในสถานที่ต่างๆ รวมการใช้ATK ในตลาด ชุมชนแออัด หอพักแออัด สถานที่พักในรูปแบบต่างๆ สถานที่ชุมชน ที่สาธาณะโดยเฉพาะที่มีการรวมกลุ่มและแออัด สถานที่ทำงาน สำนักงาน และระบบขนส่งสาธารณะ และ5.การปรับมาตรการด้านสังคมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การจำกัดกิจกรรม การปิดสถานที่ การรวมกลุ่ม เป็นต้น
และกลยุทธ์การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข มาตรการ 1.การเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีนของประชากร และจัดหาให้เพียงพอ ซึ่งมีอย่างเพียงพอและขณะนี้คลื่นการส่งมอบวัคซีนค่อนข้างถี่ 2.การปรับแนวทางและเตรียมความพร้อมของทีมสอบสวนโรคทุกระดับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 3.การปรับ และเตรียมรูปแบบการรักษาพยาบาลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยการปรับปรุงและจัดระบบHome and Community Isolation(HI,CI) และฮอสพิเทล ให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ทั้งนี้ เข้าใจว่าการเจ็บป่วยจะอยู่ในระดับสีเขียวเป็นส่วนใหญ่แล้ว เพราะประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว อย่างไรก็ตาม เตรียมรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงตามสัดส่วนด้วย รวมถึง การจัดระบบบริการสำหรับAcute Covid Care และ Long Covid Care การต่อยอดการใช้แพทย์แผนไทยในการรักษาโควิด-19 กาจัดบริการดูแลด้านสุขภาพจิต
4.การเตรียมพร้อมทรัพยากรในการรองรับการดูแลรักษา 5.การปรับระบบกักกันโรค เป็นการคุมไว้สังเกตทุกประเภท 6.การเตรียมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 7.การส่งเสริมมาตรการInfection prevention and control(IPC) และการฟื้นฟูการจัดบริการโรคอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีเปิดประเทศแล้วมีเหตุการณ์ระบาดเกิดขึ้นมีแผนรองรับการควบคุมโรคอย่างไร นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สธ.มีการประเมินแล้วว่าแม้จะมีการระบาด ซึ่งก็เป็นไปได้ แต่การฉีดวัคซีนไม่ใช่ว่าป้องกันโรคไม่ได้เลย เพียงแต่การป้องกันไม่ให้เป็นไม่ได้ 100 % อาจจะได้ 60-70 % ดังนั้น จำนวนการระบาดก็เกิดได้ยากขึ้น เมื่อมีผู้ติดเชื้อ ก็น่าจะอาการน้อย อย่างไรก็ตาม จะมีบางส่วนที่อาจจะมีอาการรุนแรง และต้องได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ซึ่งมีการประมาณการ และเตรียมเตียงรองรับอย่างพอเพียงทั้งสถานพยาบาลสังกัดสธ. เอกชน และอื่นๆ ทั้งนี้ มีการกำหนดเกณฑ์ประเมินสถานการณ์ไว้ถึงการเปิด-ปิดด้วย สมมติมีการระบาดรุนแรงจนเกินศักยภาพก็จะมีวิธีการรองรับ
“เกณฑ์เปิด-ปิดจะดูเรื่องของศักยภาพรองรับเรื่องระบบสาธารณสุขเป็นหลัก เนื่องจากจุดหลักจะอยู่ที่ศักยภาพของการดูแลผู้ป่วย เพราะแม้จะมีการติดเชื้อจำนวนมาก แต่ผู้ป่วยไม่ได้มีอาการมากหรือรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลก็ไม่เป็นไร อย่างกรณีโรคหวัดทั่วไปที่มีผู้ติดเชื้อมากแต่อาการไม่ได้รุนแรงก็ไม่ได้เข้ารับการรักษาในรพ. หากเป็นหวัดที่มีอาการมากก็ต้องการรักษาในรพ. ซึ่งโรคหวัดก็ไม่ได้รายงานว่าเป็นหวัดทุกราย แต่ผู้ป่วยหวัดที่ต้องเข้ารักษาในรพ.จะต้องมีการรายงานทุกราย เป็นต้น” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
Hfocus ปิดการแสดงความคิดเห็นท้ายข่าว/บทความ
สำนักข่าว Hfocus มีความจำเป็นต้องปิดการแสดงความคิดเห็นในเนื้อหาที่นำเสนอ เนื่องจากที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข้อความที่ไม่เหมาะสมในช่องแสดงความคิดเห็นดังกล่าว อาทิ การโฆษณาขายสินค้าที่สุ่มเสี่ยงต่อกฎหมาย การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ ด้วยความเข้าใจผิด หรือเพื่อเป็นการกลั่นแกล้ง แม้จะลบข้อความดังกล่าวออกไปจากระบบเว็บไซต์ของสำนักข่าว Hfocus แล้ว แต่ก็ยังมีข้อความบางส่วนปรากฎอยู่ในฐานข้อมูลของ Google โดยต้องแจ้งให้ Google เป็นผู้ดำเนินการลบข้อความดังกล่าว
คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม