- Line
กรุงเทพฯ – ศบค. เร่งฉีดวัคซีนชายแดนภาคอีสาน หลังพบฉีดค่อนข้างน้อย แนะผู้ประกอบการสำรวจความต้องการของแรงงานต่างด้าว ส่วนภาคการศึกษา เปิดเทอมไม่ต้องตรวจ ATK แบบปูพรม และไม่ต้องปิดยกชั้น ถ้าพบเชื้อให้สอบสวนโรคทันที
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ระบุว่า ศบค.ชุดเล็ก หารือถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน โดยเฉพาะติดขอบชายแดนในภาคอีสาน ที่เทียบกับในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ มีการฉีดวัคซีนค่อนข้างน้อย รวมทั้งพื้นที่สีฟ้า 17 จังหวัดรับนักท่องเที่ยว เป้าหมาย 70% ซึ่งในตลาดเดือน พ.ย. เป้าหมายวัคซีนทั่วประเทศต้องครอบคลุม ประชากร 70% ขอให้จังหวัดพื้นที่สีฟ้าเร่งฉีดวัคซีนให้ทัน เพราะช่วงนี้วัคซีนมีปริมาณเพียงพอ
นอกจากนี้ ยังหารือแนวทางบริหารจัดการวัคซีนในแรงงานต่างด้าว เมื่อวัคซีนเพียงพอแต่ละจังหวัด จะประกาศให้ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าวในการดูแล มารับการฉีดวัคซีน รวมถึงแรงงานประมง ขอให้ผู้ประกอบการทุกด้านสำรวจความต้องการ หากมีแรงงานที่ยังตกหล่น ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดสรรวัคซีนให้ครอบคลุมต่อไป โดยเฉพาะในเดือน พ.ย.นี้ ที่จะมีวัคซีนทั้งสิ้น 24 ล้านโดส เข้ามาในประเทศ เมื่อวัคซีนเพียงพอ ครอบคลุมประชากรไทย จะเริ่มฉีดให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในภาคธุรกิจ หากเขาปลอดภัย ก็เท่ากับสังคมไทยปลอดภัยด้วย
สำหรับ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม เพื่อตอบโต้สายพันธุ์เฉพาะ ที่แพร่ระบาดในพื้นที่
ศบค. พบคลัสเตอร์ใหม่ข้ามพื้นที่ ห่วงงานกฐิน-แรงงานข้ามชาติ
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวต่อว่า ศบค.เป็นห่วง ช่วง พ.ย.นี้ เป็นเดือนที่มีงานบุญทอดกฐิน ที่ผ่านมา เทศกาลบั้งไฟ จ.หนองคาย มีรายงานผู้ติดเชื้อ ทั้งในจังหวัดและข้ามพื้นที่ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ จ.อุดรธานี ไปด้วย
ที่อุดรธานี ยังมีการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งตอนนี้หลาย ๆ จังหวัดอนุญาตให้แข่งขันกีฬาได้ จึงขอเน้นย้ำให้ทางจังหวัด ผู้จัด รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ แม้ให้จัดงานทางวัฒนธรรมได้ แต่คงเน้นย้ำมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ทั้งการคัดกรอง การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
คลัสเตอร์ที่รายงานวันนี้ นอกจากงานศพแล้ว ยังมีงานแต่งงานที่มีผู้ติดเชื้อที่ จ.เชียงใหม่ แคมป์คนงาน ที่พักคนงาน ที่ จ.ชลบุรี นครนายก และเชียงใหม่ รวมทั้งประจวบคีรีขันธ์ ที่เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ยังมีคลัสเตอร์ โรงเรียนและวิทยาลัยด้วย
เปิดเทอมไม่ต้องตรวจ ATK แบบปูพรม หากพบเชื้อให้สอบสวนโรคทันที
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึงการเปิดเทอม 1 พ.ย.ว่า ตามข้อกำหนดฉบับที่ 34 กระทรวงศึกษาธิการประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียน ระบุเรื่องการคัดกรองและตรวจหาเชื้อโควิดในโรงเรียน คือ ต้องให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.กำหนดได้ตามความเหมาะสมของการระบาดในพื้นที่ แยกระดับอำเภอและจังหวัด รวมถึงความถี่ในการตรวจ ATK ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
เน้นย้ำว่าไม่ใช่การตรวจนักเรียนทุกคน ไม่จำเป็นต้องตรวจแบบปูพรม ไม่จำเป็นต้องตรวจสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่จะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่นั้น ๆ แนะนำให้ตรวจในนักเรียนกลุ่มเสี่ยง เช่น มีประวัติที่คนในบ้านติดเชื้อ หรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ โรงเรียนก็อาจจะใช้มาตรการขอให้นักเรียนหยุดเรียน อาจจะต้องสื่อสารกับผู้ปกครอง และหากมีการติดเชื้อในครอบครัว เด็กอาจต้องอยู่บ้านกักตัวให้ครบ 14 วัน
ส่วนครูและบุคลากรในสถานศึกษา จะต้องประเมินตนเองด้วย ‘ไทยเซฟไทย’ ของกรมอนามัย ว่ามีไข้ มีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจหรือไม่ รวมไปถึงประวัติผู้ใกล้ชิดหรือสัมผัสบุคคลเสี่ยง และขอให้ผู้ปกครองประเมินตนเองทุกวันเช่นกัน
เมื่อมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดแล้ว หากเกิดการติดเชื้อในโรงเรียน ขอให้ผู้บริหารโรงเรียน หรือคณะกรรมการโรคติดต่อ พิจารณาอย่างรอบคอบว่า การปิดโรงเรียนอาจจะไม่ใช่คำตอบ แต่จะต้องสอบสวนโรคทันที เพื่อมาตรการจัดการที่ชั้นเรียนที่มีความเสี่ยง หรือกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยง ก็จะเลือกปิดเฉพาะชั้นเรียน หรือเฉพาะครูที่มีความเสี่ยงในการสัมผัส ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน