ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล
|
08 ก.ค. 2565 เวลา 3:20 น.
กรมชลประทาน เฝ้าระวังน้ำหลาก 8-14 ก.ค.นี้ ด้านปภ. แจ้ง 35 จังหวัดภาคเหนือ – อีสาน – กลาง – ใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 9 – 14 ก.ค. 65
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่มีฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 8 – 14 กรกฎาคม 2565 นั้น ได้มอบหมายให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัย จับตาเฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
โดยเฉพาะการเฝ้าระวังระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลักและสาขา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก จันทบุรี และตราด พร้อมกับเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม คือ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ประกาศแจ้งเตือนข้างต้น ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ด้วยการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความพร้อมใช้งานได้ของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเตรียมรับน้ำหลากและป้องกันน้ำท่วมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ที่สำคัญให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงวางแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก การเตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง ที่จะเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ที่ www.rid.go.th http://swoc.rid.go.th/ https://www.facebook.com/Wmsc.Irri
ปภ.แจ้ง 35 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 9 – 14 ก.ค. 65
วันที่ 7 ก.ค. 65 เวลา 17.30 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ จะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวรทะเลอันดามันล่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขณะที่กองอำนวยการน้ำได้ประเมินสถานการณ์พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ที่มีฝนตกหนักปริมาณน้ำในอยู่ในเกณฑ์มาก อาจส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 14 กรกฎาคม 2565 รวม 35 จังหวัด แยกเป็น
– พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง รวม 32 จังหวัด
• ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (ทุกอำเภอ) เชียงใหม่ (ทุกอำเภอ) เชียงราย 6 อำเภอ (เชียงของ เทิง เวียงแก่น แม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย) ลำพูน 6 อำเภอ (เมืองลำพูน แม่ทา บ้างโฮ่ง ทุ่งหัวช้าง ลี้ บ้านธิ) ลำปาง 12 อำเภอ (เมืองลำปาง เถิน เสริมงาม สบปราบ วังเหนือ เมืองปาน แจ้ห่ม งาว แม่เมาะ ห้างฉัตร แม่ทะ แม่พริก) พะเยา 6 อำเภอ (เมืองพะเยา เชียงคำ ปง จุน ภูซาง ดอกคำใต้) แพร่ (ทุกอำเภอ) น่าน 12 อำเภอ (เมืองน่าน นาน้อย นาหมื่น เชียงกลาง ปัว เวียงสา ทุ่งช้าง ท่าวังผา บ้านหลวง แม่จริม สันติสุข ภูเพียง) อุตรดิตถ์ 8 อำเภอ (เมืองอุตรดิตถ์ ฟากท่า ท่าปลา ลับแล บ้านโคก น้ำปาด ทองแสนขัน พิชัย) พิษณุโลก 5 อำเภอ (วังทอง เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ วัดโบสถ์) ตาก (ทุกอำเภอ) เพชรบูรณ์ 7 อำเภอ (เมืองเพชรบูรณ์ วังโป่ง ชนแดน หนองไผ่ หล่มสัก หล่มเก่า เขาค้อ) และอุทัยธานี 5 อำเภอ (บ้านไร่ ห้วยคต ลานสัก ทัพทัน สว่างอารมณ์)
• ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เลย 10 อำเภอ (เมืองเลย ด่านซ้าย วังสะพุง ภูเรือ ภูหลวง ปากชม เชียงคาน หนองหิน ภูกระดึง ท่าลี่) หนองคาย 1 อำเภอ (อ.สังคม) อุดรธานี 2 อำเภอ (อ.นายูง น้ำโสม) สกลนคร 3 อำเภอ (อ.ภูพาน สว่างแดนดิน นิคมน้ำอูน) นครพนม 1 อำเภอ (อ.ธาตุพนม) และมุกดาหาร 2 อำเภอ (อ.หว้านใหญ่ หนองสูง)
• ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี 8 อำเภอ (เมืองกาญจนบุรี ไทรโยค ศรีสวัสดิ์ หนองปรือ ทองผาภูมิ บ่อพลอย เลาขวัญ สังขละบุรี) ราชบุรี 3 อำเภอ (สวนผึ้ง ปากท่อ บ้านคา) นครนายก 2 อำเภอ (เมืองนครนายก ปากพลี) ปราจีนบุรี 2 อำเภอ (กบินทร์บุรี นาดี) สระแก้ว 1 อำเภอ (เมืองสระแก้ว) ระยอง 4 อำเภอ (เมืองระยอง เขาชะเมา แกลง บ้านค่าย) จันทบุรี 7 อำเภอ (เมืองจันทบุรี นายายอาม เขาคิชฌกูฏ สอยดาว โป่งน้ำร้อน มะขาม ขลุง) ตราด 2 อำเภอ (บ่อไร่ เขาสมิง) เพชรบุรี 4 อำเภอ (หนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน ชะอำ ท่ายาง) และประจวบคีรีขันธ์ (ทุกอำเภอ)
• ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง (ทุกอำเภอ) พังงา 5 อำเภอ (อ.ตะกั่วทุ่ง คุระบุรี กะปง ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง) และภูเก็ต 1 อำเภอ (อ.ถลาง)
– พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักและสาขาเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน 6 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ตาก จันทบุรี และตราด
– พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรงในภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง 3 อำเภอ (อ.เมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์) พังงา 7 อำเภอ (อ.เมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี) ภูเก็ต 3 อำเภอ (อ.เมืองฯ กะทู้ ถลาง) กระบี่ 5 อำเภอ (อ.เมืองฯ คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก) ตรัง 4 อำเภอ (อ.กันตัง สิเกา ปะเหลียน หาดสำราญ) และสตูล 4 อำเภอ (อ.เมืองฯ ละงู มะนัง ทุ่งหว้า)
ภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM