วันเสาร์ ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 06.30 น.
‘มู่หลาน’แผลงฤทธิหลายพื้นที่เจอน้ำท่วมหนัก
อุตุฯเตือน15จว.เหนือ-อีสาน
โดนพายุถล่มส่งท้าย/ส่ออ่วม
เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม
พื้นที่เสี่ยงริมน้ำรับผลกระทบ
อิทธิพลของพายุ “มู่หลาน” ทำให้หลายจังหวัดอ่วมหนักน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนทำให้เกิดความเดือดร้อนอย่างมากกรมอุตุฯเตือน 15 จังหวัด “เหนือ-อีสาน” เจอพายุ “มู่หลาน” ถล่มส่งท้าย ฝนยังตกหนัก ระวังน้ำท่วม-น้ำป่าไหลหลาก นายกฯ เตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังอันตราย สั่งเตรียมพร้อมทุกพื้นที่ พร้อมกำชับทุกหน่วยงานช่วยเหลือปชช.ทันที ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา ปรับเพิ่มระบายน้ำ รับน้ำเหนือหลาก ทำให้น้ำในพื้นที่ท้ายเขื่อนจะสูงขึ้นอีก 60 เซนติเมตร อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2565 นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 12 เรื่อง พายุดีเปรสชัน มู่หลาน ระบุว่า เมื่อเวลา 01.00 น. ว่า วันนี้ (12 สิงหาคม) พายุดีเปรสชันมู่หลาน บริเวณมณฑลยูนนานตอนใต้ ประเทศจีน ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว และเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ ประเทศเมียนมา ตอนบน และประเทศลาวตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้ วันที่ 12 สิงหาคม 2565 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก และพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย และอุดรธานี
สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเล อันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้ายของเหตุการณ์นี้
นายกฯเตือน15จังหวัดเฝ้าระวัง
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามประกาศเตือนภัย “พายุมู่หลาน” ของกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ขอให้ประชาชนในที่อาศัยอยู่ใน 15 จังหวัด ระวังอันตราย ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และอุดรธานี ทั้งนี้ ขอให้ติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำชับหน่วยงานในพื้นที่เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตเป็นหลัก หากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ขอให้เร่งฟื้นฟูช่วยเหลือให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายขอให้เร่งซ่อมแซม พร้อมลงพื้นที่สำรวจเพื่อเร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามระเบียบราชการต่อไป”
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว ถึงภาพรวมการรับมือสถานการณ์น้ำของกรุงเทพมหานครว่า วันนี้เป็นวันที่น้ำหนุนสูง แต่ยังไม่มีอะไรน่าห่วง ตอนนี้สิ่งที่ต้องคอยระวังคือเรื่องน้ำเหนือที่จะปล่อยมาจากเขื่อนต่างๆ
ฤทธิ์“มู่หลาน”ทำ‘เชียงราย’อ่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงราย ว่า จากที่ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา จนถึงเช้าวันนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากพายุ “มู่หลาน” ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากลงลำน้ำขนาดเล็กพื้นที่ ต.นางแล ต.บ้านดู่ อ.เมือง ซึ่งมีปริมาณมาก และทำให้การระบายน้ำไม่ทัน จนเอ่อล้นเข้าท่วมผิวการจราจรถนนพหลโยธิน ทั้งขาขึ้นไปยัง อ.แม่จัน อ.แม่สายและขาล่องเข้าตัวเมืองเชียงราย ตั้งแต่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ต.บ้านดู่ จนถึงทางเข้าบ้านป่าห้า ต.นางแล ระดับน้ำสูงตั้งแต่ 10-40 เซนติเมตร สามารถใช้เส้นทางได้ช่องทางเดียวระยะทางยาวกว่า 300 เมตร ส่งผลให้การจรติดขัดอย่างมาก เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานต้องเร่งอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ น้ำที่ปริมาณมากยังไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนหลายหลังคาเรือน ในพื้นที่ ต.บ้านดู่ ต.นางแล รวมทั้งนาข้าวของชาวบ้านก็มีน้ำท่วมปริมาณมากเช่นกัน
“แม่อาย”น้ำหลาก-ท่วม-ดินสไลด์
ที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เกิดเหตุน้ำหลาก น้ำท่วมขัง และดินสไลด์ โดยมีความเสียหายโดยสรุปคือ ต.มะลิกา หมู่ที่ 1 ดินสไลด์และเสาไฟฟ้าโค่นล้มขวางทางสันจร ถนนหมายเลข 1314 บริเวณบ้านปางต้นฆ้อง, ต.แม่สาว หมู่ที่ 1 น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร, หมู่ที่ 3, 6, 8, 10, 13 และหมู่ที่ 14 น้ำหลากเข้าบ้านเรือน , หมู่ที่ 10 น้ำกัดเซาะสะพานขาด บริเวณสะพานฝายน้ำสาว , หมู่ที่ 15 ดินสไลด์ ขวางทางสันจรบริเวณบ้านป่าโหล, ต.แม่อาย หมู่ที่ 5, 6, 7และหมู่ที่ 8 น้ำหลากเข้าบ้านเรือน, ต.แม่นาวาง (น้ำหลาก) หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 15 น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร, ต.บ้านหลวง หมู่ที่ 10 น้ำกัดเซาะสะพานขาด บริเวณบ้านสันติสุข ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลแต่ละพื้นที่ อยู่ระหว่างการสำรวจและตรวจสอบความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือและประกาศเขตพื้นที่สาธารณภัยต่อไป
“พะเยา” หลายหมู่บ้านจมน้ำ
ที่ อ.ภูซาง จ.พะเยา ได้รับผลกระทบหลายหมู่บ้านน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร พื้นที่ได้รับความเสียหาย หลายพื้น เช่น ต.ป่าสัก อ.ภูซาง ทั้ง 10 หมู่บ้าน ทำให้บ้าน , รถ และเครื่องใช้ภายในบ้านได้รับความเสียหาย
นางศศิธร อัศราช กำนันตำบลป่าสัก พร้อมสารวัตรกำนัน ผู้ช่วยลงเยี่ยมเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายโดยมวลน้ำที่ไหลเอ่อท่วม ตั้งแต่ 02.00น.จนถึงเช้ามืดทำให้ชาวบ้านไม่ทันเก็บสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านไว้ที่สูงทำให้น้ำท่วม บ้าน รถและเครื่องใช้ภายในบ้านได้รับความเสียหาย และทางกำนันตำบลป่าสัก ผู้ใหญ่บ้านพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหายและรายงานให้จังหวัดทราบต่อไป
ช่วยชาวบ้าน‘เรือล่ม’รอดหวุดหวิด
ในพื้นที่ จ.น่าน ได้รับผลกระทบจากพายุ“มู่หลาน”ทำให้เกิดเหตุฝนตกหนักโดยเฉพาะในพื้นที่ 6 อำเภอ ประกอบด้วยอ.เฉลิมพระเกียรติ,อ.ทุ่งช้าง,อ.เชียงกลาง อ.สองแคว อ.บ่อเกลือและอ.ท่าวังผา โดย พ.อ.รฐนนท รัตนโสภณ ผบ.นพค.31 สนภ.3 นทพ./ผอ.ศบภ.นพค.31 สนภ.3 นทพ. นำกำลังพลชุดช่วยเหลือประชาชน ศบภ.นพค.31 และยานพาหนะ ออกช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่บนที่สูง และประสบเหตุเรือล่มในพื้นที่บ้านหนองเงือก ต.แงง อ.ปัว จ.น่าน
พ.อ.รฐนนทเผยว่าได้รับการประสานทางวิทยุแจ้งว่ามีชาวบ้านติดในที่สูง และขณะนำเรือออกมาจากในพื้นที่ทำกินในขณะที่กำลังพายเรือข้ามน้ำมานั้น กระแสน้ำแรงเชี่ยว พัดเรือคว่ำ ทำให้คนบนเรือ 8 คน ไหลไปตามกระน้ำ และอีก 1 คนถูกกระแสพัดไปไกล จนต้องประสานชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ นพค.31 ให้เร่งนำกำลังพลพร้อมอุปกรณ์เข้าไปช่วยเหลือ ก่อนที่จะช่วยทั้งหมดได้อย่างปลอดภัย
น้ำทะลักท่วม2ตำบล อ.วังทอง
ที่ จ.พิษณุโลก ยังมีมวลน้ำหลากท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ อ.วังทอง และยังมีมวลน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ หลากลงพื้นที่ อ.เนินมะปราง แล้วไหลผ่าน อ.วังทอง และ อ.บางกระทุ่ม ส่งผลให้น้ำในคลองวัดตายมและ คลองเนินกุ่ม ซึ่งเป็นคลองรับน้ำจาก อ.เนินมะปราง มีปริมาณสูง และเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะ หมู่ 1 บ้านไร่พันชาลี และ หมู่ 2 บ้านเนินไม้แดง และ หมู่ 15 ต.พันชาลี อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ได้ล้นตลิ่งเข้าพื้นที่ทางการเกษตร และบ้านเรือนประชาชน จำนวนกว่า 40 หลังคาเรือน
“อ.สากเหล็ก” บ้าน600หลังจมบาดาล
ที่ จ.พิจิตร ปริมาณฝนตกหนักสะสม จากเทือกเขาเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ยังคงไหลลงมาในคลองสากเหล็ก จนเอ่อล้น ท่วมชุมชนในเขตเทศบาลตำบลสากเหล็ก ระดับน้ำยังคงท่วมขังบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ตามแนวริมคลองโดยเฉพาะชุมชน5บ้านเรือนถูกน้ำท่วมและ ถนนสุขาภิบาล สาย5ในชุมชน ระยะทางกว่า1กิโลเมตร ระดับน้ำท่วมสูง 50-60เซนติเมตร ทำให้การสัญจรของชาวบ้าน ต้องลุยน้ำ ในการเดินทางเข้าออกเป็นไปด้วยความลำบาก และ ต้องอยู่อาศัยบ้านชั้นบนโดยน้ำที่ท่วมขัง เป็นวันที่ 2ในเขตเทศบาลสากเหล็ก ขณะที่ระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น และท่วมขังบ้านเรือนประชาชน กว่า600หลังคาเรือนใน 4 ชุมชน เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสากเหล็กเร่งเข้าทำการช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว
4อำเภอนครพนมเสี่ยงท่วมฉับพลัน
จ.นครพนม ได้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง เป็นผลกระทบพายุโซนร้อนมู่หลาน ทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องนานเกือบ2ชั่วโมงเกิดน้ำท่วมขังตามถนนสายต่างๆในเขตเทศบาลเมืองนครพนมรวมถึงย่านชุมชนเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่สามารถระบายลงน้ำโขงได้ทัน ระดับน้ำท่วมสูงสุด อยู่ที่ถนนอภิบาลบัญชา หน้าตลาดสดเทศบาลเมืองนครพนม ระดับน้ำท่วมขังสูงกว่า 30 เซนติเมตร สร้างความเดือดร้อนกับประชาชนในการสัญจรไปมา รวมถึงร้านค้า ในย่านตลาดสด ต้องเร่งเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง โดยทางเทศบาลเมืองนครพนม ได้ระดมเครื่องสูบน้ำ ขนาดใหญ่ ตามจุดต่างๆ ให้มีการระบายน้ำในเขตชุมชน ลงสู่น้ำโขงให้มากที่สุด
ทั้งนี้ ทางจังหวัดนครพนม ยังได้แจ้งเตือนให้พื้นที่เสี่ยงติดกับน้ำโขง 4 อำเภอ มี อ.บ้านแพง อ.เมือง อ.ท่าอุเทน และ อ.ธาตุพนม เฝ้าระวังฝนตกซ้ำอีก ป้องกันน้ำท่วมขัง รอระบายลงน้ำโขง
เขื่อนเจ้าพระยาเตรียมระบายน้ำเพิ่ม
ขณะที่ถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา น้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำC2 จ.นครสวรรค์,น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท, น้ำระบายผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทุกจุดมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่11ส.ค.ขณะที่ ระดับน้ำเหนือเขื่อนที่ อ.เมือง จ.ชัยนาท น้ำสูงขึ้น48 เซนติเมตร,ระดับน้ำท้ายเขื่อน ที่ อ.สรรพยา น้ำสูงขึ้น 46 เซนติเมตรมีการผันน้ำเข้าระบบชลประทานสองฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 266 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทางกรมชลประทาน เตรียมปรับเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เนื่องจากคาดการณ์ฝนที่จะตกหนัก จากพายุดีเปรสชัน“มู่หลาน” ในพื้นที่ภาคเหนือ ช่วงวันที่11-13สิงหาคมนี้ จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงลุ่มเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จึงต้องระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มขึ้นในอัตราระหว่าง 1,100-1,400 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ20-60 เซ็นติเมตร อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด