ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน จ.เชียงใหม่ บินเฮลิคอปเตอร์ ดับไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน บรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บบริเวณดอยสุเทพ พร้อมวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภัยแล้งอีสานเพิ่ม จ.อุดรธานี ลุ่มน้ำเขื่อนห้วยหลวง เขื่อนลำปาว
วันที่ 27 มีนาคม 2564 นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ ( 26 มี.ค.2564 ) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน จ.เชียงใหม่ ได้สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 1 ลำ (หมายเลข AS-350) ในภารกิจดับไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน
โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งได้ทำการตักน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มาช่วยดับไฟป่าบริเวณ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ ได้บินปฏิบัติการช่วยเหลือในเวลา 13.00 น. จำนวน 18 เที่ยวบิน สามารถตักน้ำช่วยเหลือได้จำนวน 9,000 ลิตร ในขณะเดียวกันจากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศ และกองทัพบก ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พะเยา จ.กำแพงเพชร จ.เพชรบูรณ์ จ.พิษณุโลก พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน พื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันไฟป่าบริเวณ จ.พะเยา จ.ตาก จ.ลำพูน
และสามารถบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ โดยมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ โดยพบรายงานลูกเห็บขนาดเล็กตกเล็กน้อยในพื้นที่ดอยสุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ช่วงหลังปฏิบัติการในเวลา 15.00-15.30 น. และบริเวณ อ.สามเงา จ.ตาก โดยไม่พบรายงานลูกเห็บตกในพื้นที่ ช่วงหลังปฏิบัติการในเวลา 15.07-17.07 น.
นายปนิธิ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการติดตามสภาพอากาศในช่วงเช้าวันนี้ พบว่า จากผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศเข้าเงื่อนไขปฏิบัติการฝนหลวง จึงได้วางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง โดยหน่วยฯ จ.อุดรธานี มีพื้นที่เป้าหมายคือ พื้นที่การเกษตร จ.สกลนคร จ.กาฬสินธุ์ จ.อุดรธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนห้วยหลวง เขื่อนลำปาว เขื่อนน้ำอูน และเขื่อนน้ำพุง
อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงฯอีก 10 หน่วยฯ ในช่วงเช้านี้ยังคงมีการติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง หากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง พร้อมจะช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที ทั้งนี้เกษตรกร และพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางการติดต่อของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ทาง เพจ Facebook, Instagram, Twitter, Line Official Account หรือโทรศัพท์ 02-109-5100
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat