วันอาทิตย์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564, 06.00 น.
เพิงพระพุทธรูป
ด้วยความสำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ้านติ้ว ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ที่ถูกเตรียมการเสนอเป็นมรดกโลกนั้นได้รับความสนใจใคร่รู้ของนักท่องเที่ยวมาก จึงมีการพัฒนาและยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานระดับสากล เป็นการเตรียมความพร้อมในการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หลังจาก “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท”แห่งนี้ได้ขึ้นบัญชีชั่วคราวรับการประเมินเป็นมรดกโลก ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๔๗ แล้ว และผู้เชี่ยวชาญ ICOMOS ลงพื้นที่๑๗-๒๔ กันยายน ๒๕๕๘ และมีการส่งข้อมูลเพิ่มเติมตามคำขอ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ต่อมา ICOMOS ส่งรายงานการประเมินฉบับสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๙ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ กรุงอีสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่าง ๑๐-๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๙ แต่ไทยขอถอนตัวเพราะเชื่อว่าเอกสารนั้นยังไม่สมบูรณ์ จึงทำให้คณะรัฐมนตรีประชุมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนฯนำเสนออีกครั้งเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๒ เพื่อจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอเป็นมรดกโลกต่อไป
อาทิตย์นี้จึงได้ติดตามการพัฒนาแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่แห่งนี้ไปที่เขตอุทยานแห่งชาติภูหินจอดธาตุ-ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีพื้นที่ ๓,๔๓๐ ไร่ อันเป็นแหล่งสำคัญที่พบหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณสถานตั้งอยู่ทั่วบริเวณดังกล่าวมากมาย ซึ่งสามารถบอกเรื่องราวในอดีตตั้งแต่ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งมี ๕๔ แห่งที่นับว่ามีมากที่สุดในประเทศไทย และจากการที่มีเพิงผาหน้าหินขนาดใหญ่นั้นทำให้มีการปรับใช้พื้นที่ให้เป็นโบราณสถานและวัดในสมัยอาณาจักรลานช้างมากกว่า ๗๐ แห่ง ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทสำคัญตั้งอยู่ ๓ รอย อันมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงวัฒนธรรมตำนานและศิลปกรรมกับพระธาตุพนม
คณะผู้รับผิดชอบพื้นที่
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถานที่ดังกล่าวเป็น“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” เมื่อวันที่๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ จากวันนั้นจนวันนี้ ภูพระบาทได้มีการพัฒนาพื้นที่และจัดตั้ง “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ขึ้นและทำพิธีเปิดใช้ในวันที่ ๑๙ มีนาคมนี้ เรื่องนี้กระทรวงวัฒนธรรมโดย นายประทีป เพ็งตะโกอธิบดีกรมศิลปากร ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ๑๕.๓๔ ล้านบาท จากงบยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามแผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรม มาพัฒนาและปรับปรุงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเดิม เพื่อเพิ่มศักยภาพอาคารปฏิบัติการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มารับบริการ เป็นการยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐานสากล และเตรียมความพร้อมเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในอนาคต
สำหรับการเที่ยวเพื่อเรียนรู้นั้น นายมนตรี ธนภัทรพรชัย หน.อุทยานประวัติภูพระบาทได้ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้จากศูนย์แห่งนี้ซึ่งสร้างเป็นอาคารโปร่งแสง และจัดแสดงเนื้อหาการพัฒนาการทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อและศาสนา ของผู้คนในพื้นที่ภูพระบาท และบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งมีห้องให้บริการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ โดยห้องจัดแสดงแบ่งออกเป็น ๖ ส่วน คืธรรมชาติบนภูพระบาท, ธรณีวิทยาแห่งเทือกเขาภูพาน, ภูพระบาทภูเขาศักดิ์สิทธิ์, ห้องโบราณคดีผ่านสื่อผสมผสาน, ห้องอริยสงฆ์ภูพระบาท และห้องชาติพันธุ์ชาวไทยพวน สำหรับบริเวณพื้นที่จริงนั้นมีรถไฟฟ้าบริการนำเข้าชมกลุ่มโบราณสถาน และสักการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย “ขันหมากเบ็ง” ตามประเพณีชาวอีสาน ทำให้ทุกคนร่วมถอดบทเรียนถึงแหล่งที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และสืบต่อร่วมสมัยจนมีการดัดแปลงเพิงผาหินทราย ให้เป็นศาสนสถาน และสถานที่ประกอบพิธีกรรม โดยมีการสร้างเสมาขนาดใหญ่ขนาดต่างๆ กันวางล้อมประกอบพิธีตามความเชื่อ บางแห่งสร้างเป็นศาสนสถานประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมกับมีการนำสร้างเรื่องราวอุษา-บารส ให้เป็นตำนานไปตามแท่งหินธรรมชาติและหินที่ก่อเป็นรูปร่างขึ้น เช่น หอนางอุษา หีบศพพ่อตา, หีบศพท้าวบารส, หีบศพนางอุษา และถ้ำพระเป็นต้น
นับเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทที่เป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิทัศน์อันศักดิ์สิทธิ์ ของกลุ่มผู้คนในลุ่มน้ำโขงและอุดรธานี ที่มีความพร้อมและศักยภาพ สำหรับการเสนอชื่อขึ้นเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ ทำให้กรมศิลปากรและจังหวัดอุดรธานีได้ร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพ ให้มีความพร้อมในทุกด้านต่อไป
ขันหมากเบ็ง สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์
พระครูโพนสะเม็ก ปราชญ์ พระไตรปิฎก
พระพุทธรูปหินทราย
พิธีเปิดศูนย์บริการท่องเที่ยว
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
สักการะพระพุทธรูปโบราณ
แสดงส่วนภาพเขียนสี
ห้องแสดงของศูนย์บริการฯ
หอนางอุษา
แหล่งโบราณคดีบนภูพระบาท
อาคารนิทรรศการ
อุทยานภูพระบาท