กรมชลประทาน เร่งสร้างประตูระบายน้ำบ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำ สกลนคร ซึ่งเป็น1 ในโครงการฯ ภายใต้แผนงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม โดยหวังให้เป็นโครงการช่วยบรรเทาน้ำท่วมและเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับลุ่มน้ำสงครามฤดูแล้ง ปัจจุบันมีผลงานความก้าวหน้าไปกว่าร้อยละ 33 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำสงครามเป็นลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำโขง ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม มีลำน้ำสาขาที่สำคัญ ได้แก่ ลำน้ำอูน ลำน้ำยาม และลำน้ำห้วยฮี้ ถึงแม้จะมีปริมาณฝนตกในพื้นที่แต่ละปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศไม่เหมาะสมที่จะสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ประกอบกับยังไม่มีประตูระบายน้ำปลายลำน้ำที่จะคอยทำหน้าที่ควบคุมการระบายน้ำเข้า – ออกสู่แม่น้ำโขง ซึ่งในช่วงฤดูแล้ง หากระดับน้ำแม่น้ำโขงต่ำกว่าแม่น้ำสงคราม มวลน้ำจากแม่น้ำสงครามจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรและอุปโภคบริโภค และในช่วงฤดูฝนระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะไหลย้อนกลับเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำสงคราม สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรเช่นเดียวกัน
จากสภาพปัญหาดังกล่าว กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการระบายน้ำเข้า – ออกในลำน้ำยามที่เป็นลำน้ำสาขา เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำสงครามและแม่น้ำโขงตามลำดับ ซึ่งเป็น 1 ใน 8 โครงการประตูระบายน้ำ ภายใต้แผนงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม โดยมีระยะเวลาโครงการ 5 ปี (ระหว่างปี 2562-2566) ปัจจุบันมีผลงานความก้าวหน้าร้อยละ 33 เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ถึงร้อยละ 19 ของแผนฯ หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมบริเวณด้านเหนือน้ำของประตูระบายน้ำบ้านก่อ ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเก็บกักไว้ในแก้มลิงด้านเหนือน้ำของประตูระบายน้ำ สำหรับส่งไปช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของโครงการฯได้มากกว่า 10,000 ไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำหรับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและทำประมงพื้นบ้าน เสริมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่