ธุรกิจเครื่องดื่ม – ร้านอาหารดัง วิ่งฝุ่นตลบ “กัญชาฟีเวอร์” หนุนดีมานด์ทะลัก ส่งทีมกว้านซื้อใบกัญชาต่อยอดธุรกิจ “บุรีรัมย์ สกลนคร อุดรธานี พิษณุโลก โคราช เชียงใหม่” ราคาพุ่ง 10 เท่า ทะลุ 15,000 บาทต่อกิโล “ชากัญชา” กิโลละ 4 หมื่น มีเงินก็ซื้อไม่ได้ “ช้าง-สิงห์” ซุ่มเตรียมเบียร์ร่วมวง อาหาร 15 แบรนด์เกาะขบวน “เดอะ พิซซ่า คอมปะนี” ปรุงสูตรพิซซ่าหน้ากัญชาลงตลาด อย.เปิดตัวเลขการขอใบอนุญาตล่าสุด 1,407 ราย
กระแสความตื่นตัวของทั้งผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งความนิยมของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงของการปลดล็อกกัญชา-กัญชาจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตลอดในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สามารถนำใบ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก รวมถึงสารสกัดที่มี CBD เป็นส่วนประกอบและกากที่เหลือจากการสกัด ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2%, เมล็ดกัญชงน้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงประชาชนสามารถใช้ส่วนดังกล่าวประกอบอาหาร ทำยารักษาโรค เป็นต้น และส่งผลให้ส่วนต่าง ๆ ของกัญชามีความต้องการเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะใบกัญชา
ดีมานด์ทะลัก-ราคาพุ่ง
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการอาหารและเครื่องดื่มรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มและอาหารรายใหญ่หลายราย อาทิ ซีพีเอฟ คาราบาว กระทิงแดง เถ้าแก่น้อย เซ็ปเป้ อิชิตัน ฯลฯ รวมถึงผู้ประกอบร้านอาหาร ร้านพิซซ่ารายใหญ่ ได้มีการส่งทีมงานลงพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกกัญชา เพื่อติดต่อและหาแหล่งซื้อวัตถุดิบในหลาย ๆ จังหวัด
อาทิ บุรีรัมย์ สกลนคร อุดรธานี พิษณุโลก นครราชสีมา เชียงใหม่ เป็นต้น และจากดีมานด์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เตรียมการเพื่อรองรับการนำวัตถุดิบไปใช้กับสินค้าของตัวเองที่มีมากในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับแหล่งปลูกกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ยังมีไม่มากนัก ส่งผลให้ราคาซื้อขายโดยเฉพาะใบกัญชาราคาพุ่งขึ้นเป็นกว่า 10 เท่า
“ก่อนหน้านี้ปกติราคาใบสดจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 1,000-1,500 บาท แต่ช่วงหลัง ๆ ขยับมาเป็น 2,000 บาท เพิ่มเป็น 5,000 บาท และพุุ่งขึ้นไปเป็น 10,000 บาท แต่ล่าสุด (20-21 มีนาคมที่ผ่านมา) ใบกัญชาขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับกิโลกรัมละ 14,000-15,000 บาท”
ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการร้านอาหารรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากปริมาณของความต้องการใบกัญชาที่มีมากในตอนนี้ ส่งผลให้วัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น ยกตัวอย่าง ใบกัญชาที่นำมาตากให้แห้งเพื่อทำเป็นชาชง ราคากิโลกรัมละ 4-5 หมื่น ตามไซซ์ S-M-L และต้องมีการจองล่วงหน้าต้องทำ MOU ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วไปซื้อได้ หลาย ๆ แบรนด์มีความต้องการมาก
“ตอนนี้หลาย ๆ ค่ายใช้วิธีไปจับมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีใบอนุญาตปลูกมากขึ้น เนื่องจากสถาบันการศึกษาเหล่านี้จะมีวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกกัญชาเป็นเครือข่ายจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้การรวบรวมวัตถุดิบทำได้ง่าย”
นายณธกร ทัศนัส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชาและพืชเสพติดสมุนไพรทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ศูนย์ได้เริ่มปลูกกัญชาเพื่อวิจัยมาประมาณ 2 ปี เป็นการผลิตกัญชาที่เป็นเมดิคอลเกรด โดยผลิตเพื่อป้อนให้กับกรมการแพทย์แผนไทยฯ และองค์การเภสัชกรรมเป็นหลัก ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเครื่องดื่มและอาหารหลายรายได้มีการติดต่อเข้ามา ซึ่งมีทั้งการขอคำปรึกษาเรื่องการปลูก รวมถึงการเจาจรเพื่อซื้อวัตถุดิบ
“ปกติเราขายกิโลกรัมละประมาณ 1,500 บาท แต่ก็มีผลผลิต (ใบกัญชา) ไม่มาก นอกจากกรมการแพทย์แผนไทยฯ และองค์การเภสัชกรรม ส่วนที่เหลือก็จะเป็นการซัพพอร์ตให้กับร้านอาหาร-เครื่องดื่มในจังหวัดไปปรุงสดเพื่อจำหน่าย เป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดจึงไม่ได้ขายให้กับคนอื่น ๆ ที่ติดต่อเข้ามา”
ก่อนหน้านี้ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ขณะนี้มีผู้สนใจต้องการใช้ส่วนต่าง ๆ ของกัญชา โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นจำนวนมาก แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีจากแหล่งปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย และส่วนที่นำไปใช้จะรับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5
จากการตรวจสอบไปยังเว็บไซต์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ แม่โจ้ มีการเปิดให้มีการลงทะเบียนและจองซื้อชิ้นส่วนกัญชา อาทิ ใบกัญชาสด กิโลกรัมละ 1,000 บาท ใบกัญชาแห้ง กิโลกรัมละ 15,000 บาท รากกัญชาสด, กิโลกรัมละ 2,000 บาท, รากกัญชาแห้ง (กิโลกรัมละ 5,000 บาท) ยอดกัญชาอ่อน (กิโลกรัมละ 30,000 บาท) ก้านกัญชาแห้ง (กิโลกรัมละ 20,000 บาท) ลำต้นกัญชาแห้ง (กิโลกรัมละ 1,000 บาท) ทั้งนี้ ผู้จองซื้อจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์การนำไปใช้ โดยศูนย์วิจัยกำหนดว่าวัตถุประสงค์การนำไปใช้ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและถูกต้องตาม พ.ร.บ.องค์การอาหารและยา (อย.)
“ช้าง-สิงห์” สุ่มลุยเบียร์กัญชา
แหลงข่าวระดับสูงจากวงการเครื่องดื่ม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากผู้ประกอบการชาพร้อมดื่มหลาย ๆ ค่ายที่สนใจจะนำกัญชามาต่อยอดธุรกิจแล้ว ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาค่ายเบียร์ช้าง (ไทยเบฟเวอเรจ) ก็มีการเตรียมความพร้อมในหลายด้านทั้งในเรื่องของการวิจัยและแหล่งวัตถุดิบ เพื่อเตรียมจะพัฒนาเบียร์ที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้ามาทำตลาด ซึ่งตอนนี้รอเพียงความชัดเจนของกฎหมาย เช่นเดียวกันค่ายสิงห์ (บุญรอดฯ) สนใจจะนำกัญชามาต่อยอดธุรกิจเบียร์และสินค้าอื่น ๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา R&D
“ส่วนไฮเนเก้นที่ปัจจุบันในหลาย ๆ ประเทศมีเบียร์ที่มีส่วนผสมของกัญชาอยู่แล้ว หากทางการอนุญาตก็คาดว่าจะนำเข้ามาทำตลาดในไทยเช่นกัน” แหลงข่าวระบุ
“พิซซ่ากัญชา” มาแน่
นายภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ พิซซ่า คอมปะนี บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกระแสความนิยมในกัญชาที่เกิดขึ้น เดอะ พิซซ่า คอมปะนี สนใจและอยู่ระหว่างศึกษาตลาดทั้งในแง่ของการขอใบอนุญาต เนื่องจากสาขาของเดอะ พิซซ่า คอมปะนีมีมากกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ ต้องมาดูรายละเอียดว่าจะต้องขอใบอนุญาตเป็นรายสาขาไป หรือต้องขออนุญาตในนามบริษัทซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมพร้อมในการดีเวลอปเมนูพิซซ่าที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบเพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้
นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร้านอาหารรายใหญ่ที่มีแบรนด์ต่าง ๆ อยู่ในพอร์ตโฟลิโอกว่า 15 แบรนด์ อาทิ เซ็น, อากะ, เขียง, ร้านตำมั่ว ฯลฯ กล่าวในเรื่องนี้ว่า กระแสกัญชาที่กำลังได้รับความนิยม ทำให้หลาย ๆ แบรนด์สนใจและต้องการจะกระโดดเข้ามาในตลาด รวมถึงบริษัทที่ได้นำร้านอาหารไทย 3-4 แบรนด์ อาทิ ตำมั่ว ร้านอาหารไทยสไตล์อีสาน, เขียง ร้านอาหารสตรีตฟู้ด และลาวญวน เปิดตัวเมนูที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ 2 เมนู ได้แก่ ไก่ต้มอารมณ์ดี (ไก่ต้มริมโขง) และยำอารมณ์ดี (ยำผักหวานกุ้งสด) โดยซื้อวัตถุดิบมาจากแหล่งที่ขออนุญาตปลูกอย่างถูกต้อง ตอนนี้เราขออนุญาตเป็นรายสาขา โดยใช้เป็นโมเดลของแฟรนไชส์ก่อน ตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อซื้อมาใช้ในนามบริษัทที่ต้องใช้วัตถุดิบหรือใบจำนวนมาก
จับตากัญชา-กัญชงนอกถล่ม
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการกัญชา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดกัญชา-กัญชงนั้นถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นและเป็นตลาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดในอเมริกาเหนือ ที่ตลาดเปิดกว้างให้มีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ ขณะที่จีนก็ถือเป็นผู้ปลูกกัญชงรายใหญ่ของโลก เพื่อนำมาผลิตเป็นเส้นใย รวมถึงการแปรรูปและสกัดเป็นน้ำมัน CBD และ CBD แบบผง โดยปลูกมากในแถบยูนนาน หรือตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ และช่วงหลัง 1-2 ปีที่ผ่านมาราคาในตลาดโลกลดลงมาก และทุกวันนี้ก็มีการประกาศขายในเว็บไซต์จำนวนมาก
“สิ่งที่เป็นห่วงและน่าจับตาก็คือ เนื่องจากตามบทเฉพาะกาล มาตรา 21 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) ในระยะเวลา 5 ปี จะไม่อนุญาตให้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศได้ เพื่อคุ้มครองผู้ปลูกและประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่หากพ้นเมื่อช่วงเวลา 5 ปีไปแล้ว หรือประมาณปี 2567 หากมีการเปิดให้นำเข้าได้เชื่อว่าด้วยปริมาณกัญชา-กัญชงรวมถึงสารสกัดจากกัญชา-กัญชงที่มีมากและราคาที่ลดต่ำลง อาจจะทำให้ผู้ประกอบการต้นน้ำหรือกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนได้รับผลกระทบ”
อะไรทำได้-ทำไม่ได้
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกัญชาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,407 ฉบับ (ข้อมูล ณ 15 มีนาคม 2564) แบ่งเป็นใบอนุญาตนำเข้า 8 ฉบับ, ครอบครอง 160 ฉบับ, ผลิต (ปลูก) จำนวน 138 ฉบับ), ผลิต (แปรรูป/สกัด) 33 ฉบับ, ผลิต (ปรุง) 5 ฉบับ และจำหน่าย 1,063 ฉบับ โดยผู้รับอนุญาตจำหน่ายกัญชาดังกล่าวหลัก ๆ เป็นโรงพยาบาลรัฐ 730 แห่ง รพ.สต. 222 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 23 แห่ง คลินิก 64 แห่ง และหน่วยงานอื่น ๆ 24 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีผู้รับอนุญาตครอบครองกัญชาเพื่อจ่ายน้ำมันกัญชาภายใต้โครงการวิจัยจำนวน 29 แห่ง
สำหรับคุณสมบัติผู้ขออนุญาตปลูกกัญชาตาม ม.26/5 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) ประกอบด้วย 1.หน่วยงานของรัฐ หรือสภากาชาดไทย 2.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีการศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์ 3.วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของหน่วยรัฐ 4.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง แพทย์แผนไทย แพทย์ประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน
รายงานข่าวจาก อย.ระบุว่า หากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาต้องการนำใบหรือส่วนต่าง ๆ ที่ไม่เป็นยาเสพติดไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่ายก็สามารถทำได้ ด้วยการยื่นขอแก้ไขแผนการนำไปใช้ประโยชน์ที่ อย. ซึ่งโดยหลักการของกฎหมายก็คือ ประชาชนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชาที่ไม่เป็นยาเสพติดได้ แต่ต้องได้มาจากผู้ที่ได้รับอนุุญาตปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหาร-เครื่องดื่มต้องซื้อมาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตจาก อย.เท่านั้น
อาทิ วิสาหกิจชุมชนที่ปลูกร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เมื่อได้รับใบหรือส่วนของพืชกัญชาจากแหล่งที่ปลูกถูกต้องตามกฎหมายมาแล้ว สามารถนำมาปรุงใส่อาหารจำหน่ายที่ร้านได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก อย.อีก แต่สิ่งที่ควรจะต้องระมัดระวัง คือ ใบกัญชาเองมีสารอื่น ๆ เช่น สารเทอร์พีน (terpene) ที่มีผลต่อความไวในการตอบสนองของมนุษย์ต่างกัน เมื่อนำมาปรุงอาหารขายจะต้องมีความระมัดระวังความเข้มข้นของกัญชา ควรใส่ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป หรืออาจหลีกเลี่ยงสำหรับผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น โรคประจำตัว เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคหัวใจ
การนำส่วนของพืชกัญชาไปทำเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายที่ต้องผ่านการขอเลขจดแจ้งจาก อย. โดยในส่วนนี้จะต้องขออนุญาต ซึ่ง อย.กำลังทยอยทำประกาศปลดล็อกการนำส่วนของพืชกัญชาไปใส่ในอาหารและผลิตภัณฑ์เพิ่มต่อไป