เบอร์หนึ่งพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ “เซ็นทรัลพัฒนา” ประกาศแผนธุรกิจ 5 ปี ลงทุน 120,000 ล้านบาท วางกลยุทธ์พัฒนาโครงการ Retail-Led Mixed-Use Development ทุกโปรเจกต์ต้องเป็น “มิกซ์ยูส” นำโดยช้อปปิ้งมอลล์ เตรียมขยายในกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมปั้นพอร์ตโฟลิโอธุรกิจโรงแรม ยึดทำเล “เมืองหลัก เมืองรอง และเมืองอุตสาหกรรม” ภายใน 5 ปี เตรียมเปิด 37 แห่งทั่วประเทศ
“เซ็นทรัลพัฒนา” หนึ่งในธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ของตระกูลจิราธิวัฒน์ โฟกัสการพัฒนาศูนย์การค้าขนาดใหญ่มากว่า 40 ปี เริ่มต้นแห่งแรกในปี 2525 เปิดโครงการเซ็นทรัล ลาดพร้าว ปัจจุบันเป็นเจ้าของศูนย์การค้าทั่วประเทศ 32 แห่ง สัดส่วนรายได้หลักมาธุรกิจค้าปลีก 80% แผนธุรกิจ 5 ปีนับจากนี้ (2565-2569) เดินหน้าขยายพอร์ตโฟลิโอในฝั่ง Non-Retail มากขึ้น มี 3 ธุรกิจหลัก คือ อาคารสำนักงาน, ที่พักอาศัย และโรงแรม
หนึ่งในขาหลักฝั่ง Non-Retail คือธุรกิจโรงแรม ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 2 แห่ง คือ เซ็นทารา อุดรธานี และ ฮิลตัน พัทยา แต่แผน 5 ปีจากนี้ธุรกิจโรงแรมจะขยายตัวด้วยอัตราเร่ง ภายใต้เป้าหมาย 37 แห่ง ใน 27 จังหวัด รวมกว่า 4,000 ห้อง ด้วยงบลงทุน 10,000 ล้านบาท
ต่อยอดแบรนด์GO! ขยายพอร์ตฯโรงแรม
แผนธุรกิจโรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนาในช่วง 5 ปีนี้ จะเปิดตัวด้วย 3 แบรนด์หลักครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์
1. Centara แบรนด์ระดับ Upscale ราคา 2,000 บาทต่อคืน
2. Centara One แบรนด์ระดับ Lifestyle Midscale ราคา 1,500 บาทต่อคืน
3. Go! Hotel แบรนด์ระดับ Premium Budget ราคา 1,000 บาทต่อคืน
ธุรกิจโรงแรมทั้ง 3 แบรนด์บริหารโดยโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา (CENTEL) ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เชนโรงแรมเซ็นทารา แต่อีก 2 แบรนด์ คือ Centara One และ Go! Hotel เป็นแบรนด์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นสำหรับบริหารให้โรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนา
หากดูสัดส่วนการลงทุนโรงแรมจำนวน 37 แห่ง แบ่งเป็น Centara 4 แห่ง Centara One 8 แห่ง และ go! Hotel 25 แห่ง ในแง่มูลค่าการลงทุนทั้ง 3 แบรนด์ใช้เม็ดเงินใกล้เคียงกัน แต่ในด้านจำนวนจะเห็นว่า go! Hotel มากสุด เพราะด้วยคอนเซ็ปต์โรงแรมระดับ Premium Budget ขนาด 79 ห้อง ใช้เงินลงทุนไม่มาก เน้นขยายในเมืองอุตสาหกรรมที่มีโครงการศูนย์การค้าของทั้งเซ็นทรัลพัฒนาและเซ็นทรัลกรุ๊ปเปิดให้บริการอยู่แล้ว
go! Hotel ที่ถูกนำมาเปิดตัวในธุรกิจโรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนา ถือเป็นการต่อยอดแบรนด์ GO! ของ “เซ็นทรัลกรุ๊ป” ที่เปิดตัวแบรนด์นี้ครั้งแรกในฝั่งธุรกิจค้าปลีกของ “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” (CRC) โดย “เซ็นทรัล เวียดนาม” ซึ่งเข้าไปทำธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามตั้งแต่ปี 2554 จากนั้นในปี 2561 ได้เปิดตัวศูนย์การค้า GO! ด้วยคอนเซ็ปต์ “Eat-Shop-Play” กิน ช้อป เที่ยว ครบจบในที่เดียว
หลังจาก “เซ็นทรัล เวียดนาม” ได้ซื้อกิจการไฮเปอร์มาร์เก็ต Big C เวียดนาม จากกลุ่มคาสิโน ฝรั่งเศส ในปี 2559 (ส่วน Big C ในไทยขายให้กลุ่ม BJC) ต่อมาได้เปลี่ยนแบรนด์ Big C ในเวียดนาม มาเป็นแบรนด์ GO! ในปี 2561 นอกจากนี้ได้พัฒนาโมเดลซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีกขนาดเล็กในเวียดนาม ภายใต้แบรนด์ mini go! เพิ่มเติม เน้นขยายในเมืองขนาดกลางและเล็กในเวียดนาม
จากแบรนด์ค้าปลีก GO! ในเวียดนาม เซ็นทรัล รีเทล ได้นำแบรนด์ GO! เข้าสู่ตลาดไทย
go! WOW ภายใต้การบริหารของบริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งเป็นร้านวาไรตี้สโตร์จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นของใช้ภายในบ้าน ของตกแต่งบ้าน ซ่อมแซมบ้าน รวมถึงของใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่า 14,000 รายการ ราคาสินค้าเริ่มต้น 5 บาท
go! Power ภายใต้การบริหารของ บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งเป็นศูนย์รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ราคาคุ้มค่า ผ่อนน้อย อนุมัติไว มีสินค้ากว่า 5,000 รายการ
“GO! เป็นแบรนด์ของเซ็นทรัลกรุ๊ป วางแนวคิดให้เป็นแบรนด์ธุรกิจที่เข้าถึงได้ง่าย ราคาจับต้องได้ และเข้าถึงกำลังซื้อคนกลุ่มใหญ่ เซ็นทรัลพัฒนาได้ต่อยอด go! Hotel ด้วยคอนเซ็ปต์ Value for Money หลังจากนี้จะเห็นการขยายธุรกิจอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ GO! ของกลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาเพิ่มเติมอีก” คุณวัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าว
ชูจุดขายโรงแรม Travel Ecosystem
“เซ็นทรัลพัฒนา” ลงทุนธุรกิจศูนย์การค้ามากว่า 40 ปี อาจมีคำถามว่าทำไมจึงมาเริ่มลงทุนโรงแรมในช่วงนี้ คุณภูมิ จิราธิวัฒน์ Head of Hotel Property บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ให้มุมมองว่ามาจาก 3 เรื่องหลัก
1. หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ตลาดท่องเที่ยวในประเทศ (ไทยเที่ยวไทย) ฟื้นตัวเร็วเห็นได้จากตัวเลขเดือนเมษายน 2565 ตลาดไทยเที่ยวไทยมีจำนวน 30 ล้านคนครั้ง หากเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 (ก่อนโควิด) ตัวเลขอยู่ที่ 38 ล้านคนครั้ง นั่นเท่ากับว่ากลับมาใกล้เคียงก่อนโควิด นอกจากนี้ยังเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ตลอด 10 ปี ตั้งแต่ปี 2555 -2565 อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น 10% ทุกปี จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการเข้ามาลงทุนธุรกิจโรงแรมในช่วงนี้
2. พฤติกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป มีนักท่องเที่ยวกลุ่ม Staycation, Workation และ Digital Nomad ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง การขยายธุรกิจโรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนา แบรนด์ Centara และ Centara One ทั้งสองแบรนด์นี้ได้ใช้คอนเซ็ปต์ Bleisure คือ Business + Leisure มาเป็นจุดขายตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทั้งการพักผ่อนและการทำงาน
3. ต่อยอดโครงการมิกซ์ยูสของเซ็นทรัลพัฒนา ภายใต้ยุทธศาสตร์ Retail-Led Mixed-Use Development ทุกโปรเจกต์จะมีการพัฒนาอสังหาฯ มากกว่า 1 รูปแบบ โดยโรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนาที่จะลงทุน 37 แห่งใน 5 ปี ทุกโครงการจะอยู่ในพื้นที่ช้อปปิ้ง มอลล์ของกลุ่มเซ็นทรัล ทำให้แตกต่างจากโรงแรมอื่นที่สามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวก (facilities) ต่างๆ ของศูนย์การค้าได้ เช่น การสั่งอาหารจากร้านดังมารับประทานในโรงแรม ทำให้โรงแรมเป็นตัวเลือกแรกๆ เมื่อเทียบกับระดับเดียวกัน
“การขยายธุรกิจโรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนาในแต่ละจังหวัด วางเป้าหมายให้โรงแรมเป็นเดสติเนชั่นการเดินทางภายในประเทศ ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจการเดินทาง (Travel Ecosystem) เราจะเปลี่ยนความคิดที่ว่าโรงแรมต้องเน้นการท่องเที่ยวและต่างชาติเป็นหลัก แต่มองธุรกิจโรงแรมเป็นมากกว่าการท่องเที่ยว คือ การเดินทางที่จะตอบโจทย์ได้ในทุกจุดประสงค์ ทั้งท่องเที่ยวพักผ่อน ติดต่อธุรกิจ เพื่อการทำงาน หรือพักอาศัย และต่อยอดกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น”
ในช่วง 5 ปีนี้ โรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนาทั้ง 3 แบรนด์ จะขยายใน 27 จังหวัด เช่น โคราช, อุบลราชธานี, อยุธยา, ระยอง, ศรีราชา, ชลบุรี เชียงราย เป็นต้น โดยแบรนด์ Centara อยู่ในพื้นที่เมืองหลัก Centara One เมืองรอง และ go! Hotel เมืองอุตสาหกรรม เจาะตลาดคนไทยเป็นหลัก
สำหรับโรงแรมโครงการแรกจะเปิดตัวในเดือนกันยายนนี้ คือ “เซ็นทารา โคราช” (Centara Korat) ซึ่งจะเป็นเครือโรงแรมระดับ International แห่งแรกของเมือง โดยโคราชเป็น gateway ไปสู่ภาคอีสาน ซึ่งเซ็นทรัลพัฒนาได้บุกเบิกโครงการมิกซ์ยูส เซ็นทรัล โคราช เอาไว้แล้ว มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวโคราช, นักเดินทางจากจังหวัดอื่นทั้งแบบเดินทางคนเดียวและแบบครอบครัว ที่น่าสนใจคือกลุ่มเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ และนักธุรกิจที่มีเป้าหมายในจังหวัดอื่น ๆ เช่น บุรีรัมย์, อุดรธานี และขอนแก่น เป็นต้น
ภายใต้แผนธุรกิจ 5 ปี โดยในปี 2569 “เซ็นทรัลพัฒนา” จะมีโครงการจาก 4 ธุรกิจรวมกันกว่า 180 โครงการ มีพื้นที่รีเทลรวม 2.7 ล้านตารางเมตร, พื้นที่อาคารสำนักงานรวม 5 แสนตารางเมตร โรงแรม 4,000 ห้อง และโครงการที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงรวม 68 โครงการ โครงสร้างรายได้จาก Retail Property 72% และ Non-Retail 28% ในส่วนนี้จะมาจากโรงแรม 10% ถือเป็นการสร้างพอร์ตโฟลิโอรายได้ที่เติบโตทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจไปพร้อมกัน
อ่านเพิ่มเติม
- เปิดวิสัยทัศน์ “วัลยา จิราธิวัฒน์” ซีอีโอหญิงคนแรก “เซ็นทรัลพัฒนา” กับภารกิจรีแบรนด์ศูนย์การค้า-แผนธุรกิจ 5 ปี