หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า..อีกแค่ 7 วัน สัปดาห์หน้า วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ จะมีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(นายก อบจ. )และสมาชิกสภาองค์การบริหารจังหวัด (สมาชิก อบจ. )ใหม่ จำนวน 18 จังหวัด
ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจากกรณีที่ กกต. มีคำสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนน นายก อบจ.และสมาชิก อบจ.ซึ่งมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ 76 จังหวัดไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา…ใหม่อีกครั้ง
โดย กกต.สั่งยกเลิกการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวน 46 หน่วยเลือกตั้ง
การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 15 หน่วยเลือกตั้ง
และทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 3 หน่วยเลือกตั้ง
และสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งดังกล่าวจำนวน 18 จังหวัด ในวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์นี้
ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการออกเสียงลงคะแนนใหม่เนื่องจากหน่วยเลือกตั้งดังกล่าวมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน โดยหน่วยที่ต้องเลือกตั้งใหม่ ประกอบด้วย
1.นนทบุรี ออกเสียงลงคะแนนเฉพาะสมาชิก อบจ. 9 หน่วยเลือกตั้ง
2.สุพรรณบุรี ออกเสียงลงคะแนน นายก อบจ. และสมาชิก อบจ. 1 หน่วยเลือกตั้ง
3.สมุทรปราการ ออกเสียงลงคะแนนเฉพาะ นายก อบจ. 3 หน่วยเลือกตั้ง
4.อ่างทอง ออกเสียงลงคะแนนเฉพาะนายก อบจ. 2 หน่วยเลือกตั้ง
5.พังงา ออกเสียงลงคะแนนเฉพาะนายก อบจ. 1 หน่วยเลือกตั้ง
6.ชุมพร ออกเสียงลงคะแนนนายก อบจ. และสมาชิก อบจ. 3 หน่วยเลือกตั้ง
7.นราธิวาส ออกเสียงลงคะแนนเฉพาะสมาชิก อบจ. 1 หน่วยเลือกตั้ง
8.นครศรีธรรมราช ออกเสียงลงคะแนนเฉพาะสมาชิก อบจ. 1 หน่วยเลือกตั้ง
9.ลพบุรี ออกเสียงลงคะแนนเฉพาะนายก อบจ. 1 หน่วยเลือกตั้ง
10.นครสวรรค์ ออกเสียงลงคะแนนเฉพาะสมาชิก อบจ. 1 หน่วยเลือกตั้ง
11.สระแก้ว ออกเสียงลงคะแนน นายก อบจ.และสมาชิก อบจ.. 8 หน่วยเลือกตั้ง
12.ระยอง ออกเสียงลงคะแนนนายก อบจ.และสมาชิก อบจ. 13 หน่วยเลือกตั้ง
13.กาฬสินธุ์ ออกเสียงลงคะแนนเฉพาะนายก อบจ. 1 หน่วยเลือกตั้ง
14.นครพนม ออกเสียงลงคะแนนเฉพาะสมาชิก อบจ. 4 หน่วยเลือกตั้ง
15.ยโสธร ออกเสียงลงคะแนนเฉพาะนายก อบจ. 2 หน่วยเลือกตั้ง
16.อุตรดิตถ์ ออกเสียงลงคะแนนสมาชิก อบจ. และนายก อบจ. 3 หน่วยเลือกตั้ง
17.อุดรธานี ออกเสียงลงคะแนนเฉพาะสมาชิก อบจ. 5 หน่วยเลือกตั้ง
และ 18.อุบลราชธานี ออกเสียงลงคะแนนเฉพาะสมาชิก อบจ. 1 หน่วยเลือกตั้ง
แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562
มาตรา 64 บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรมและความเป็นระเบียบเรียบร้อย
(5 ) ในกรณีที่มีการสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ ผู้ใดจะหาเสียงเลือกตั้งมิได้ เว้นแต่กกต.จะมีมติเป็นอย่างอื่น
ที่กฎหมายบัญญัติ ห้ามหาเสียง เพราะคนออกกฎหมายคงเห็นว่า เป็นการเลือกตั้งใหม่สืบเนื่องจากการเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ ซึ่งผู้สมัครได้หาเสียงไปแล้ว
และนี่เป็นคำตอบว่าทำไม เลือกตั้งใหม่ นายก อบจ. และสมาชิก อบจ. การหาเสียงเลือกตั้งจึงเงียบฉี่