ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี นำชาวอุดรธานี ทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนาเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญของโลก น้อมถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องในสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ประจำปี 2564
วันที่ 26 พ.ค. 2564 ที่ศาลาบุญสิงห์ วัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วย นางอรจิรา ศิริมงคล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ประชาชนในพื้นที่ ร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง อาหารคาวหวาน ผลไม้ เนื่องในวันวิสาขบูชา โดยได้รับเมตตาจากพระธรรมวิมลมุนี เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส (พระอารามหลวง) คณะสงฆ์ สามเณร ร่วมพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว เพื่อสืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น น้อมถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ บุพการี ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งยังถือเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน
วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีไหนมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันเพ็ญเดือน 7 เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ต่อมาองค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันสำคัญของโลก “Vesak Day” ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และกำหนดให้เป็นวันหยุดของสหประชาชาติ เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา ด้วยเหตุผลที่ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน
วันวิสาขบูชา เริ่มครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา มีบันทึกในหนังสือนางนพมาศ สรุปได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน หลังจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากขึ้น ทำให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีวิสาขบูชา กระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2360) ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรก ในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ.2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศล ถือเป็นแบบอย่างถือปฏิบัติในการประกอบพิธี วันวิสาขบูชา ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน.