
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ชาวบ้านสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ 10-15 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเพื่อคัดค้านและขอให้ทบทวนการแต่งตั้งผู้มีส่วนได้เสียโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี และการจัดประชุมกำหนดตัวบุคคลผู้มีสิทธิ์ตรวจสอบการทำเหมืองใต้ดิน ซึ่งก่อนหน้านี้ 1 วัน สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้กระจายตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านให้แก่ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.), นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด, นายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่, รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม, และนายกรัฐมนตรี ก่อนจะมาสิ้นสุดที่การมายื่นหนังสือคัดค้านที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี

ระหว่างการรอยื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการ ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ ได้ปราศรัยชี้แจงเพื่อให้ทางหน่วยงานรัฐได้รับรู้ถึงเหตุผลที่ออกมายื่นหนังสือคัดค้าน โดยนางมณี บุญรอด กล่าวว่าทราบข่าวว่าจะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นที่อำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี และได้มีการตั้งกรรมการตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียนั้น ไม่ได้รับความเห็นชอบจากตนเองและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ หากทางจังหวัดได้ทำการแต่งตั้งตัวแทนนั้น ตนเองไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง จึงได้ออกมายื่นหนังสือคัดค้าน
ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านคนอื่นๆต่างผลัดกันขึ้นปราศรัย วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ออกมติเห็นชอบให้ทำเหมืองแร่โปแตซในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้มีการสอบถามความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่แล้วหรือไม่ ทั้งที่คำสั่งของศาลปกครองยังคงมีคำสั่งค้านกับมติคณะรัฐมนตรีอยู่
“พวกเราเป็นชาวบ้านตาดำ ๆ ที่ไม่ได้มีอำนาจอะไร นอกจากการออกมาใช้สิทธิ์เรียกร้องตามหลักสิทธิที่มีในหลักการรัฐธรรมนูญ การทำเหมืองแร่โปแตซ เหมือนกับการที่รัฐขูดเลือดจากปู หากเอาทรัพยากรออกไปจนหมดแล้วผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการแก้ปัญหา ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร ประชาชนกว่า 6 พันคนใน 3 ตำบลได้รับการเมินเฉย” ชาวบ้านกล่าว

หลังจากการปราศัย นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการฯและนายฐิติณัฏฐ์ มุณีรัตน์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้เป็นตัวแทนรับยื่นหนังสือ โดยนายฐิติณัฏฐ์ ได้ชี้แจงต่อชาวบ้านว่า เมื่อปี 2557 ได้มีการประกาศรายชื่อไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีที่มาจาก 3 ส่วนคือตัวแทนโดยตำแหน่งจากผู้ใหญ่บ้านและกำนัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมาจากหน่วยงานรัฐ 2 คนและตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทนภาคประชาชน ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ฯได้ยื่นคัดค้านนั้นทางอุตสาหกรรมได้มีการปรับให้เป็นปัจจุบันแล้วเนื่องจากรายชื่อเก่าได้มีรายชื่อบุคคลเสียชีวิตไปแล้วอยู่ 5 ราย และได้มีการแก้ไขให้เป็นปัจจุบันขึ้น
สำหรับเนื้อหาในหนังสือที่ชาวบ้านยื่นให้ผู้ว่าราชการฯนั้นมีด้วยกัน 5 ข้อ อาทิ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้ฟ้องต่อศาลปกครอง คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด และ ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)กลับไปจัดทำกระบวนการใหม่ตาม พรบ.แร่ 2560
,ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี จะต้องดำเนินการปิดประกาศ จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และประชุมปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนด ปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย