06 Mar 2021 15:26 น.
อ่าน 335 ครั้ง
บทความ …โดย “ฐาปนา บุณยประวิตร”นายกสมาคมการผังเมืองไทยและเลขานุการกฎบัตรไทย[email protected] …ระเบียงเศรษฐกิจอีสานเหนือ ในฐานะศูนย์กลางบริการอินโดจีน (จบ)
ปัจจัยที่สาม การอยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศและแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ปัจจุบันไทยมีข้อตกลงและข้อผูกพันด้านยุทธศาสตร์กับต่างประเทศที่เกี่ยวกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจอีสานเหนือมากกว่า 3 แผน สำหรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น พบการระบุเป้าหมายการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นศูนย์กลางการบริการของอินโดจีนไว้แล้ว ปัจจัยที่สี่ การมีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อทางกายภาพและระบบคมนาคมขนส่งที่ดำเนินการอยู่แล้ว โดยรัฐยังมีแผนการขยายการลงทุนต่อเนื่อง อาทิ แผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพมหานคร-หนองคายและโครงการรถไฟทางคู่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่นและอุดรธานี ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ซึ่งปัจจุบันโครงการส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ปัจจัยที่ห้า ความเหมาะสมในการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจหลักของระเบียง พิจารณาจากจำนวนประชากรที่มีโอกาสเพิ่มจำนวนตามมาตรฐาน 3 แสนคนต่อพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจ จากข้อมูลปัจจุบัน เฉพาะเทศบาลนครอุดรธานีและเทศบาลนครขอนแก่น ต่างมีจำนวนประชากรและความหนาแน่นอยู่ในระดับที่สามารถเพิ่มเติมได้ โดยอาศัยการดึงดูดด้วยกิจกรรมเศรษฐกิจ สำหรับเทศบาลนครอุดรธานี ปี พ.ศ.2561 มีประชากร 130,457 คน ความหนาแน่น 2,797.25 คนต่อตารางกิโลเมตร ส่วนเทศบาลนครขอนแก่นมีประชากร 120,143 คน ความหนาแน่น 2,600 คนต่อตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ หากนับรวมประชากรของเทศบาลและองค์การบริหาร
ส่วนตำบลที่ตั้งอยู่โดยรอบเทศบาลทั้งสอง จะพบจำนวนประชากรแห่งละไม่ต่ำกว่า 250,000 คน
ปัจจัยที่หก โอกาสการพัฒนาเป็นระเบียงเศรษฐกิจนานาชาติ เครื่องชี้สำคัญของปัจจัยนี้ได้แก่ ปัจจุบันได้มีการนำนโยบายและแผนงานของรัฐบาลกระจายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังจะพบการกระจายยุทธศาสตร์ไปยังแผนพัฒนาภาค แผนพัฒนาจังหวัด รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในส่วนของภาคเอกชน รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าปี 2558 เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยทั่วทั้งภาคติดลบร้อยละ 0.4 แต่อุตสาหกรรมกลับเติบโตสวนทาง และนับจากปี 2558, 2559, 2560 และ 2561 เศรษฐกิจที่เติบโตร้อยละ 3.1, 3.2, 3.3 และ 3.4 ตามลำดับนั้น มากกว่าครึ่งเป็นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเครื่องชี้ทั้งสองตัวได้แสดงให้เห็นโอกาสของการพัฒนาในอนาคต
กล่าวโดยสรุป เพื่อให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจอีสานเหนือได้มาตรฐาน บรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางบริการของอินโดจีน จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยมุ่งเน้นที่ยุทธศาสตร์หลักสำคัญ 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์แรก การทำความตกลงกับกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคเพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างระบบการพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองที่ได้มาตรฐาน โดยอาศัยเกณฑ์และระบบการวางแผนที่ถูกต้อง ใช้ความเชี่ยวชาญและฐานทรัพยากรที่แต่ละประเทศมีอยู่โดยร่วมกันยกระดับสมรรถนะพร้อมกัน มุ่งให้เกิดการเติบโตทางด้านมูลค่าและคุณค่าที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
ยุทธศาสตร์ที่สอง การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การใช้ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่กลุ่มศูนย์เศรษฐกิจหลักและกลุ่มสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจให้ตอบสนองต่อกิจกรรมการสร้างมูลค่าและคุณค่า สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ให้กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางราง โดยลดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถนนและโครงสร้างพื้นฐานที่ระบบเศรษฐกิจต้องพึ่งพาการเดินทางและการขนส่งด้วยรถยนต์และรถบรรทุก ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายภาคการขนส่งและโลจิติกส์ของรัฐและของเอกชนในพื้นที่ระเบียงได้มาก
ยุทธศาสตร์ที่สาม การใช้สาขาเศรษฐกิจเขียวเป็นสาขาหลักในการพัฒนากิจกรรมของระเบียง ด้วยความคาดหวังให้ทุกมูลค่าเศรษฐกิจที่ได้ ต้องไม่ทำลายหรือเป็นปัจจัยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การทำลายสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มภาระด้านสุขภาพ พร้อมการสนับสนุนการจ้างงานเขียวและการจ้างงานนวัตกรรมที่ใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีมากกว่าการใช้ทรัพยากร และการพัฒนาสมรรถนะของคนไปพร้อมกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากนั้น ในการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ควรให้ความสำคัญต่อธุรกิจท้องถิ่นที่ใช้ฐานทรัพยากรด้านเกษตร สมุนไพร และการแพทย์แผนไทย ทั้งนี้ เพื่อสร้างธุรกิจที่ผูกพันกับพื้นที่และมีความสามารถในการกระจายมูลค่าที่ได้ให้กับประชาชนทุกระดับชั้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,657 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อน กับ LINE @thansettakij