ภูมิภาค
“อลงกรณ์” ปลื้มรถไฟจีน-ลาว ขนสินค้าเกษตรไทยขบวนแรกไปเมืองฉงฉิ่งแล้ว
วันพฤหัสบดี ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2565, 16.45 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ม.ค.65 ที่ห้องประชุมด่านศุลกากรหนองคาย ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ได้ติดตามงานนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในช่วงเช้าได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และตัวแทนของ สปป.ลาว เรื่องสินค้าเกษตรที่นำเข้า – ส่งออก ปัญหาอุปสรรคการขนส่งสินค้าเกษตร เกษตรผ่านด่าน และการขนส่งผลไม้ทางราง ส่วนช่วงบ่ายเป็นการหารือและติดตามความก้าวหน้าพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานี
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการขับเคลื่อนเส้นทางรถไฟจีน – ลาว โดยบ่ายวันนี้ขบวนรถไฟสินค้าเกษตรของไทยขบวนแรก เป็นข้าวสารจากจังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน 500 ตัน ได้ขึ้นรถไฟสถานีรถไฟเวียงจันทน์ใต้ ผ่านด่านโม่ฮั่น ไปยังเมืองฉงฉิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างจีน ลาว และ ไทย มีตัวแทนของกลุ่มบริษัทของ สปป.ลาว บริษัทเวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค บริษัทท่าบก ท่านาแล้ง นับเป็นวันประวัติศาสตร์ที่สร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของอีสานเหนือ 5 จังหวัด อุดรธานี, หนองคาย, บึงกาฬ, เลย และหนองบัวลำภู ขับเคลื่อนให้เป็นระเบียงเขตเศรษฐกิจอีสาน จะพัฒนาต่อไปคล้ายอีอีซี การขนส่งทางรถไฟไม่ได้มุ่งเป้าเฉพาะไปที่จีนเท่านั้น จะเชื่อมโยงไปยังเอเชียกลางและตลาดยุโรป จึงได้เชิญตัวแทนของบริษัทเอกชนตะวันออกกลางมาร่วมพิจารณาการลงทุน เส้นทางการบริการโลจิสติกส์สถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย จะมีการทำข้อตกลงระหว่างอีสานเกสเวย์กับพอคอสเกสเวย์ทางบกกับประเทศคาซักสถานเชื่อมต่อไปยุโรป
การพิจารณาเปิดด่านจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อสถานการณ์โควิด 19 ดีขึ้น โอมิครอนถึงแม้จะระบาดเร็ว แต่มีความรุนแรงและอาการน้อย จนมีการคาดคะเนว่าเข้าสู่ภาวะปกติภายในปีนี้ ดังนั้นการเปิดด่านทุกด่าน และการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้า จะกลับมาฟื้นตัว ทุกฝ่ายต้องเตรียมตัว เมื่อมองเห็นโอกาสการขนส่งทางราง ไม่ใช่แค่ขนส่งสินค้าอย่างเดียว ต้องขนคน ขนนักท่องเที่ยว สภาพของ สปป.ลาว ที่มีสภาพแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยวสวยงาม มาเชื่อมต่อกับหลาย ๆ รูปแบบกับประเทศไทย ดึงนักท่องเที่ยวจากจีนที่มีมาก รวมถึงพัฒนาสนามบินนานาชาติอุดรธานีให้เป็นฮับ ขนส่งสินค้าและขนส่งคน ให้เป็นการเชื่อมโยงมัลติโมเดลทรานสปอร์ตเทชั่น จำเป็นต้องอัพเกรด และการเดินหน้านิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีให้เป็นเกษตรสีเขียว เพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้รายได้เกษตรกรลดลง ภายใต้โครงการหนึ่งกลุ่มจังหวัดหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรแปรรูปอาหาร ที่มีการทำอยู่แล้วให้มีความคืบหน้ามากขึ้น ขณะนี้มีความพร้อมที่จะลงทุนและทาง สปป.ลาว ก็ให้ความสนใจ และจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกของกลุ่มจังหวัด ไม่เช่นนั้นก็ต้องขายแต่วัตถุดิบ ในอนาคตสินค้าเกษตรของภาคอีสานจะมีทางรอด มีการแปรรูป
นอกจากนี้ทางภาคเอกชนไทยเสนอให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับทางการลาว ในการลดขั้นตอนพิธีการต่าง ๆ ในการขนส่งสินค้าทางราง ให้กระชับและรวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ดี จะได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารูปแบบว่าสามารถดำเนินการได้ในด้านใดบ้าง ทาง สปป.ลาว มีความพร้อม แต่ต้องมาคุยกันว่าจะมีการเชื่อมโยงอะไรกันบ้าง บางเรื่องเป็นความลับทางราชการ
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า การขนส่งผลไม้ของไทยไปจีนนั้น ไทยได้รับอนุญาต 22 ชนิดคือผลไม้ ภายใต้พิธีสารระหว่างไทย – จีน ในเรื่องผลไม้เป็นข้อตกลงพิเศษ ไทยหวังว่าเส้นทางนี้ภายในสิ้นปีนี้และก่อนถึงปีผลผลิตปีนี้จะเร่งผลักดันให้เกิดการขนส่งบนรถไฟสายนี้เพื่อเป็นช่องทางขนส่งผลไม้ เราได้ทำงานล่วงหน้าในการทำพิธีสารเมื่อเดือน กันยายน 2564 การขนส่งผลไม้ระหว่างไทย – จีน ผ่านประเทศที่สามต้องทำพิธีสาร ซึ่งขณะนี้มี 22 ชนิดผลไม้ ด่านเข้าออกต้องกำหนดพิธีสาร หนองคายเพิ่งได้รับการเห็นชอบเมื่อ 13 ก.ย.64 เหลือด่านตรวจพืชของจีนที่สถานีรถไฟโมฮั่นเท่านั้นที่พยายามเร่งรัด และได้แจ้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยไปแล้ว ทูตเกษตรตาง ก็ขอให้เร่งรัดเรื่องนี้ การส่งออกปี 2564 แม้ไทยจะเผชิญปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าระวางแพง แต่ไทยสามารถส่งออกผลไม้ไทยไปจีนได้สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ 11 เดือน ผลไม้ 7 ชนิด ไทยส่งออกได้ 1.6 แสนล้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ที่สำคัญเฉพาะทุเรียนเป็นปีแรกที่ส่งออกได้เกินแสนล้าน บนเส้นทางรถไฟสายนี้จะเพิ่มมูลค่าส่งออกได้มากกว่าร้อยละ 50 ดังนั้นเชื่อว่าความเชื่อมมือระหว่างไทย ลาว จีน เป็นการกุญแจเชื่อมโยงถึงกันที่สำคัญและจะมีความร่วมมือต่าง ๆ ตามมา.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่