เปิดแผนปูพรมกระจายวัคซีนโควิด ตั้งเป้าฉีด 50 ล้านคน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ มั่นใจรับเข็มที่ 1 ร้อยละ 70 ภายในกันยายนนี้ ลดความเสี่ยง-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เผยข่าวดี 47 ล้านโดส เคลื่อนทัพเข้าไทย “แอสตร้าเซนเนก้า” ลอตแรกกว่า 25 ล้านโดส มาแน่ มิ.ย.-ส.ค.64 นี้ “จอห์นสันฯ-ไฟเซอร์” สมทบอีกระลอก เปิดรายชื่อ “ท็อปเทน” จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรมากสุด
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ส่งหนังสือ (ที่ สธ 0410.7/ว 543) เรื่องการแจ้งแนวทางให้บริการวัคซีนโควิด-19 แบบปูพรม ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ 1-12 เพื่อขอให้ดำเนินการเตรียมความพร้อมจุดให้บริการวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาล รวมถึงการกำหนดช่องทางการลงทะเบียนและการเข้ารับวัคซีน เพื่อให้สามารถดำเนินการฉีดวัคซีนตามแนวทางให้บริการวัคซีนโควิด-19 แบบปูพรมพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2564
จากนั้นถัดมา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.) เพื่อทำความเข้าใจและตอกย้ำแผนการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 ในเดือนมิถุนายน-กันยายนที่จะถึงนี้ โดยกำหนดให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนหลักสำหรับการป้องกันโรคโควิด-19 โดยรอบแรกมีการจัดหาวัคซีน 35 ล้านโดส เพื่อฉีดปูพรมเป็นเข็มที่ 1 ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน 2564
จากนั้นฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 เพื่อให้ประชากรทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ จำนวน 50 ล้านคน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ร้อยละ 70 ภายในเดือนกันยายน 2564 เพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิตในประชากรกลุ่มเสี่ยง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว และการเปิดประเทศ ตามแผนที่กำหนด
10 จังหวัดรับวัคซีนมาก
แหล่งข่าวกล่าวว่า พร้อมกันนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ยังได้กำหนดแผนการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าดังกล่าว โดยในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม จะมีการกระจายวัคซีนรวมทั้งสิ้น 25,820,000 โดส แบ่งเป็น มิถุุนายน 6,333,000 โดส, กรกฎาคม 9,627,000 โดส และสิงหาคม 9,860,000 โดส ส่วนเดือนกันยายนมีแผนจะกระจายวัคซีน (แอสตร้าเซนเนก้า, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และไฟเซอร์) เพิ่มอีก 21,283,000 โดส หรือรวมทั้งสิ้น 47,103,000 โดส
ทั้งนี้ หากพิจารณารายละเอียดของการกระจายวัคซีนดังกล่าว โดยเรียงลำดับจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนมากที่สุด 10 อันดับแรกในแต่ละเดือน มีดังนี้ เดือนมิถุนายน ประกอบด้วย 1.กรุงเทพฯ 2,510,000 โดส 2.อุดรธานี 246,000 โดส 3.สมุทรปราการ 237,000 โดส 4.สกลนคร 181,000 โดส 5.นครราชสีมา 147,000 โดส 6.มหาสารคาม 131,000 โดส 7.สระบุรี 118,000 โดส 8.นครพนม 114,000 โดส 9.สุราษฎร์ธานี 88,000 โดส และ 10.อุบลราชธานี 87,000 โดส
เดือนกรกฎาคม ประกอบด้วย 1.กรุงเทพฯ 2,510,000 โดส 2.นนทบุรี 645,000 โดส 3.ปทุมธานี 624,000 โดส 4.ชลบุรี 556,000 โดส 5.นครปฐม 503,000 โดส 6.สมุทรปราการ 487,000 โดส 7.สุราษฎร์ธานี 427,000 โดส 8.เชียงใหม่ 419,000 โดส 9.บุรีรัมย์ 341,000 โดส และ 10.กระบี่ 266,000 โดส
ส่วนเดือนสิงหาคม ประกอบด้วย 1.ชลบุรี 746,000 โดส 2.สมุทรปราการ 592,000 โดส 3.นครราชสีมา 405,000 โดส 4.ระยอง 394,000 โดส 5.นนทบุรี 365,000 โดส 6.ปทุมธานี 354,000 โดส 7.ฉะเชิงเทรา 309,000 โดส 8.ขอนแก่น 289,000 โดส 9.อุบลราชธานี 284,000 โดส และ 10.เชียงใหม่ 238,000 โดส
และเดือนกันยายนที่จะมีการกระจายวัคซีนมากถึงกว่า 21.28 ล้านโดส ประกอบด้วย 1.นครราชสีมา 1,198,000 โดส 2.ขอนแก่น 841,000 โดส 3.อุบลราชธานี 791,000 โดส 4.นครศรีธรรมราช 734,000 โดส 5.อุดรธานี 717,000 โดส 6.สุรินทร์ 642,000 โดส 7.สงขลา 632,000 โดส 8.ร้อยเอ็ด 594,000 โดส 9.เชียงราย 538,000 โดส และ 10.ศรีสะเกษ 528,000 โดส
ฉีด 50 ล้านคน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่
แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขยังระบุด้วยว่า การเร่งดำเนินการดังกล่าว ได้มีการลำดับความเร่งด่วนของพื้นที่ในการฉีดวัคซีนโควิดเดือนมิถุนายน-กันยายน 2564 ประกอบด้วย 1.จังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี (ภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม) จังหวัดที่มีแผนเปิดการท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต (ภายในเดือนมิถุนายน)
2.จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภายหลังระบาด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย สงขลา สระแก้ว ตาก มุกดาหาร นราธิวาส ระนอง หนองคาย สุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย) พังงา กระบี่ จันทบุรี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และ 3.จังหวัดที่เหลือรวม 55 จังหวัด
รวมทั้งได้มีการกำหนดระยะเวลาที่แต่ละจังหวัดให้บริการวัคซีนเข็มที่ 1 ครบ 70% ของประชากร เช่น จังหวัดภูเก็ต เดือนมิถุนายน ส่วนกรุงเทพฯ กระบี่ พังงา ภายในเดือนกรกฎาคม ขณะที่นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ภายในเดือนสิงหาคม และที่เหลืออีก 66 จังหวัด ภายในเดือนกันยายน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาจัดสรรวัคซีนดังกล่าว เป็นการคำนวณจากจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร และประชากรแฝงทั่วประเทศที่มีประมาณ 72.08 ล้านคน โดยตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ครบ 70% ของประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ซึ่งเท่ากับประมาณ 50.45 ล้านคน ที่ผ่านมามีหลายจังหวัด
รายงานข่าวจากกรมควบคุมโรค ระบุจำนวนประชากรที่ได้รับจัดสรรวัคซีนในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2564) มีประมาณ 2,040,641 คน และจำนวนประชากรที่รอการจัดสรรวัคซีน มี 47,122,483 คน โดยจังหวัดที่ประชากรได้รับวัคซีนมากสุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.กรุงเทพฯ 369,631 คน 2.ภูเก็ต 301,740 คน 3.สมุทรสาคร 107,920 คน 4.เชียงใหม่ 77,670 คน 5.ชลบุรี 76,550 คน 6.สุราษฎร์ธานี 65,260 คน 7.นนทบุรี 52,205 คน 8.ตาก 48,066 คน 9.บุรีรัมย์ 45,700 คน และ 10.นครราชสีมา 42,040 คน
สภาอุตสาหกรรมทวงวัคซีนให้แรงงาน ม.33
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตนและคณะได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายสุชาติ ชมกลิ่น) เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2564 เพื่อติดตามความคืบหน้าและขอทราบนโยบายที่ชัดเจนในการจัดหาและกระจายวัคซีนให้กับแรงงาน ตามมาตรา 33 (ม.33) ซึ่งเป็นแรงงานในกลุ่มภาคอุตสาหกรรมด้วย
โดยกระทรวงแรงงานให้ข้อมูลว่าจะมีการจัดหาและกระจายวัคซีนให้กับแรงงาน ม.33 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นจะกระจายไปให้แรงงาน ม.33 ในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่โซนสีแดงเข้มทุกจังหวัด ก่อนจะกระจายให้กับจังหวัดโซนสีอื่นต่อไป
“การจัดหาวัคซีนให้กับสมาชิกที่มาลงชื่อไว้กับ ส.อ.ท.ก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งก็จะถูกนับรวมไปกับการจัดหาวัคซีนของกระทรวงแรงงานตาม ม.33 จุดไหนได้รับจัดสรรก่อน ก็จะเร่งกระจายไปก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป”
ศบค.ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งสถานการณ์ทั่วโลก ในประเทศเพื่อนบ้านและสถานการณ์ภายในประเทศยังน่ากังวล จากแนวโน้มของผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้ท่อหายใจเพิ่มมากขึ้น การปล่อยข่าวบิดเบือนเพื่อสร้างความกลัวต่อการฉีดวัคซีน และในห้วงวันที่ 24-28 กรกฎาคม 2564 เป็นช่วงหยุดยาวจะมีการเดินทางข้ามจังหวัดของประชาชนจำนวนมากเพื่อกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยว