ก็มีผู้สันทัดกรณีด้านต่างประเทศ ออกข่าว “ดักหน้า-ดักหลัง” ด้วยปรารถนาดี ทำนองว่า
“นายกฯ จะไปเซ็นร่วมมือกับสหรัฐฯ ตั้ง นาโต ๒ ในภูมิภาค ‘อินโด-แปซิฟิก’ เป็นการ ‘ชักน้ำเข้าลึก-ชักศึกเข้าบ้าน’ ” ประมาณนั้น
คนที่ติดตามข่าวสาร จะมีข้อมูลใช้พิเคราะห์หาความจริงได้ แต่สำหรับคนที่ไม่มี ฟังแล้วอาจเชื่อทันที ตรงนี้ค่อนข้างอันตราย
พอดี พบที่ “คุณนันทิวัฒน์ สามารถ” อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนี้ไว้ เป็นความรู้ มีค่าควรยึดถือ ขอนำมาให้อ่านดังนี้
………………………
“นันทิวัฒน์ สามารถ”
นาโต 2 มีเรื่องฮือฮาในสื่อที่คนมีชื่อเสียงหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเดินทางไป “วอชิงตัน” ของลุงตู่
ทำนองว่า “จะไปร่วมมือจัดตั้งนาโต 2 หรือจะชักศึกเข้าบ้าน”
ต้องเล่าถึงเรื่องนาโต 2 ก่อน
คำนี้ ยังไม่มีอยู่พจนานุกรม ไม่มีการเอ่ยถึง ไม่อยู่ในหัวข้อเจรจา ขออธิบายให้คนรุ่นหลังๆ ได้ทราบข้อมูลเก่า เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
“นาโต” เป็นองค์กรความร่วมมือทางทหารและการเมืองที่สหรัฐและพันธมิตรจัดตั้งขึ้น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
เพื่อต่อต้าน ยับยั้ง การแผ่ขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียต ในขณะนั้น หรือรัสเซียในวันนี้ ชื่อเต็มๆ คือ North Atlantic Treaty Organization NATO
ในขณะที่ “สหภาพโซเวียต” ก็มีกลุ่มองค์กรทางทหารชื่อ Warsaw Pact เช่นกัน
แต่ต่อมา เมื่อคอมมิวนิสต์ล่มสลาย องค์กรวอร์ซอร์แพ็ค ก็ล่มไป สมาชิกวอร์ซอร์แพ็คหลายประเทศได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…..
สหรัฐก็มาชวนหลายประเทศในเอเชีย ก่อตั้งองค์กรความร่วมมือทางทหาร ชื่อ “ซีโต้” South East Asia Treaty Organization SEATO
ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของซีโต้
นอกจากนี้…..
ไทยมีความกังวลใจต่อการรุกคืบของคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน จึงมีความตกลงร่วมมือทางทหารและการเมืองกับสหรัฐ ที่เรียกว่า “สนธิสัญญาถนัด-รัสก์”
ยิ่งกว่านั้น ในสมัย “รัฐบาลทักษิณ” รัฐบาลในขณะนั้น กระดี๊กระด๊ากับคำหวานหูว่า
“ไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ได้รับสถานะพันธมิตรนอกนาโต” นักการเมือง สื่อมวลชน ต่างหลงใหลได้ปลื้ม กับพันธมิตรนอกนาโต
แล้วนาโต 2 มายังไง?
คนที่เอ่ยถึงคือเลขาธิการนาโต “สโตเทนแบร์ก” พูดเมื่อต้นเมษายนว่า
“ควรมีการขยายบทบาทของนาโตมายังเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อ ‘กดดันจีน’ ที่ไม่ร่วมมือโดดเดี่ยวรัสเซีย”
ไทยเป็นประเทศเล็ก ที่ต้องร่วมมือกันกับเพื่อนอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง ที่จะต้องมีการปรึกษาหารือกัน ไทยคงเลือกดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบ “ข้ามาคนเดียว” ไม่ได้
ประเทศไทยมีผลประโยชน์กับหลายประเทศและภูมิภาคทั่วโลกทั้งทางด้านการค้า เศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ รวมทั้ง ต้องดูแลความมั่นคงของประเทศด้วย
ไทยคงไม่สามารถเลือกคบหรือปฏิเสธใครได้ ไทยคงไม่สามารถเลือกข้าง คบใครคนเดียว เทอีกคนทิ้ง
ไทยคงต้อง “สร้างสมดุล”
ไม่ผูกพัน “ทางทหาร” กับใคร เพื่อเป็นศัตรูกับใคร ไทยต้องรักษาอธิปไตย ผลประโยชน์ ความมั่นคงของไทย และอาจต้องดำเนินนโยบายแบบ “ไผ่ลู่ลม”
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องเริ่มต้นด้วยการทูต การเจรจา การผูกมิตร การมีผลประโยชน์ร่วมกัน
“ไม่ใช่สงคราม”
ไทยคงต้องรับฟังทุกปัญหา และนำกลับมาปรึกษาหารือกัน ทั้งในส่วนที่เป็นผลประโยชน์ของไทยและเพื่อนบ้านอาเซียน
การร่วมมือ “ทางทหาร” คงไม่ใช่เจอกันทีเดียวจบ ต้องผ่านกระบวนการ ทั้งหน่วยงานความมั่นคง สภาความมั่นคงฯ ต้องหารือกัน
ลุงตู่, ลุงดอน ผ่านงานความมั่นคงมานาน
และมีประสบการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงอย่างดี
ไม่ตกหลุมพรางง่ายๆ หรอก
คนไทยอาจคิดต่างกันได้ แต่ต้องไม่แตกแยก ในภาวะที่การเมืองระหว่างประเทศตึงเครียดมาก เราควรจะร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว
อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ “นันทิวัฒน์” ยังโพสต์ประเด็น “นาโต 2” ต่อมาว่า
ขอเพิ่มเติมเรื่อง “นาโต 2” เอาให้ชัดเจน จะได้ไม่คาใจ
แรกสุด อยากจะเล่าว่า…..
ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ไปร่วมประชุมกับผู้นำอเมริกัน แต่ไทยและกลุ่มอาเซียน ได้รับเชิญจาก “ไบเดน” ให้ไปร่วมประชุม
“ลุงตู่” ไม่ได้วิ่งไปขอให้เค้าเชิญ
มีเพียง “พม่า” ประเทศเดียวที่ไม่ได้รับเชิญ และผู้นำฟิลิปปินส์ที่จะไม่ไป เพราะติดเลือกตั้งในประเทศ
เรื่องที่สอง….
งงๆ กับวิธีคิดว่า “การไปอเมริกาจะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน” วิธีคิดอย่างนี้ ถูกต้องหรือไม่?
ไทยไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกับประเทศใด เราดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ
ไทยพยายามถ่วงดุลอำนาจ ไม่ได้เป็นศัตรูกับประเทศใด ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศใด
เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ประเทศจีน” ที่หลายคนเป็นห่วง
ไทยมีความสัมพันธ์กับจีนใกล้ชิดลึกซึ้ง ในทุกระดับ
อยากจะเล่าให้คนไทยได้ทราบว่า….
ไทยได้ทำความตกลงกับจีนที่เรียกว่า Comprehensive Strategic Partnership “ความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน”
แปลเป็นไทยง่ายๆ คือ “หุ้นส่วนรอบด้าน”
และจีนสนับสนุนไทยในการย้ายฐานการผลิตมายัง EEC
จีนสนับสนุนบทบาทนำของไทยในอาเซียน
และไทยยังสนับสนุนโครงการ Belt and Road Initiative ของจีน
ที่สำคัญ จีนไม่เคยเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย
“ความสัมพันธ์ไทย-จีน” เป็นความสัมพันธ์พิเศษที่หลายประเทศอิจฉา
ไทยดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่เป็นศัตรูกับใคร และไม่ก้าวขาไปเข้าค่ายใดแน่นอน
———————–
ครับ….
ถ้าคนชื่อ “นันทิวัฒน์ สามารถ” เฉยๆ โพสต์เนื้อหาเหล่านี้ อาจรับฟังได้ แต่จะเชื่อได้หรือไม่ ยังเป็นปัญหา
แต่เมื่อ “นันทิวัฒน์ สามารถ” คนนี้ คือ….
อดีตข้าราชการทำงานในระดับ “รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ” คือคนทำงานเกี่ยวกับ “ความเป็น-ความตาย” ของประเทศมาก่อน
อะไรที่เป็น “ความลับ-ความมั่นคง” ของชาติ ถ้าเอาใครก็ได้มาอยู่-มาเป็น ประเทศไม่รอดมาถึงวันนี้ได้หรอก
ฉะนั้น ที่คุณนันทิวัฒน์โพสต์ ผมไม่ได้บอกให้เชื่อ-ไม่เชื่อ
แต่ในความ “ว่างเปล่า” ทางความรู้-ความเข้าใจในกลไก-กลเกมการเมืองโลก
ยึดที่คุณนันทิวัฒน์โพสต์เป็น “ฐานข้อมูล” บรรจุไว้ในความว่างเปล่านั้นได้ครับ
มี ๒ คำ ตามที่คุณนันทิวัฒน์เอ่ยถึง คือ
๑.องค์กรความร่วมมือทางทหาร ชื่อ “ซีโต้” South East Asia Treaty Organization SEATO และ
๒.”สนธิสัญญาถนัด-รัสก์”
“สองคำ-สองชื่อ” นี้ จะเรียกว่าเป็นบทเรียนจากสมัยผู้นำคนสุดท้ายของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” คณะราษฎร สร้างไว้ให้ เมื่อปี ๒๔๙๗
เพื่อศึกษา “ในทางหลีกเลี่ยง” ทำนองเดียวกับกรณี “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี ๒๕๔๐ ก็ย่อมได้
ที่ผู้นำประเทศคนต่อๆ มา…..
ต้องศึกษา จดจำ หลีกเลี่ยง ไม่ให้ประวัติศาสตร์นั้น เกิดขึ้นซ้ำรอยกับประเทศอีก
และผู้นำคนปัจจุบัน “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”
และคนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศปัจจุบัน “คุณดอน ปรมัตถ์วินัย”
มีหรือ ที่จะไม่ศึกษา ไม่เรียน ไม่รู้ บทเรียนประวัติศาสตร์นั้น?
ทุกผู้นำที่ซื่อสัตย์ต่อชาติบ้านเมือง เขาศึกษาจนถึงขั้นนำบทศึกษานั้น พัฒนาเป็นประสบการณ์
เพื่อที่จะไม่ให้ กรณีอย่าง……
“ซีโต้” และ “สนธิสัญญาถนัด-รัสก์” เกิดขึ้นอีกกับไทย หรือกระทั่งกับในกลุ่มอาเซียน
เรื่องนี้ต้องขยาย
คือเรื่องซีโต้และสนธิสัญญา “ถนัด-รัสก์” แล้วทุกคนจะโล่งใจ-หายห่วง เรื่องที่ไทยจะไปเป็นนาโต หรืออีโต้ ๒-๓ อะไรกับใครเขา
ไว้พรุ่งนี้ เปิดหน้า ๓ อ่านต่อละกัน!
คนปลายซอย