อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า “ป่าเขือน้ำ” บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทางประมาณ 67 กม. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเปิดบริการเวลา 08.00-16.30 น. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแห่งนี้ ปรากฏร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 2,000-3,000 ปีมาแล้ว มีการพบภาพเขียนสีมากกว่า 30 แห่ง ยังพบการดัดแปลงโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนใน วัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ตามลำดับ ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของ มนุษย์ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ทางกรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ ป่าสงวนจำนวน 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 63 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด สภาพภูมิประเทศของภูพระบาทมีลักษณะเป็นโขดหินและเพิงผาที่กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินทราย ซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน ระหว่างชั้นของหินที่เป็นทรายแท้ ๆ ซึ่งมีความแข็งแกร่งมาก กับชั้นที่เป็นทรายปนปูนซึ่งมีความแข็งแกร่งน้อยกว่า นาน ๆ ไปจึงเกิดเป็นโขดหิน และเพิงผารูปร่างแปลก ๆ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 2,000-3,000 ปีมาแล้ว วิถีชีวิตของผู้คน ในสมัยนั้นดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า และล่าสัตว์เป็นอาหาร เมื่อขึ้นมาพักค้างแรม อยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติเหล่านี้ก็ได้ใช้เวลาว่างขีดเขียนภาพต่าง ๆ เช่น ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ตลอดจนภาพลายเส้นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไว้บนผนังเพิงผาที่ใช้พักอาศัย ซึ่งปรากฏอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นจำนวนมาก เช่น ที่ถ้ำวัว-ถ้ำคน และภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ ซึ่งภาพเขียนสีบนผนังหินเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาให้ผู้คนในชั้นหลังค้นหาความหมายที่แท้จริงต่อไป สอบถามข้อมูล โทร. 0 4225 1350-2, 0 4291 8619, 08 4518 6134 สำนักงานอุดรธานี โทร. 0 4232 5406-7